ส่องเศรษฐกิจไทย ปี 2566

ปี 2566 น่าจะเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ทำให้มีการพูดกันว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ภาวะ “เผาจริง”


เส้นทางนักลงทุน

ปี 2566 น่าจะเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ทำให้มีการพูดกันว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ภาวะ “เผาจริง” จากปีนี้ที่อยู่ในภาวะ “เผาหลอก”

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากมุมมองของกระทรวงการคลังที่คาดว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.8% ต่อปี มีช่วงคาดการณ์ที่ 2.8-4.8% โดยได้แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 21.5 ล้านคน และถือว่ายังอยู่ในวิสัยที่รับได้อยู่

มีการประเมินว่าประเทศไทยจะเป็นเพียง 1 ใน 2 ของประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566 โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มีมุมมองดีต่อเศรษฐกิจไทยว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปีหน้าและปีถัดไป คาดจีดีพีจะเติบโตได้ 4.5% ต่อปี จากปี 2565 นี้ที่ 3.3%

การฟื้นตัวต่อเนื่องในภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีสัดส่วน 15% ของจีดีพีประเทศ คาดว่าปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 15-20 ล้านคน และอาจได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวจีนหากจีนผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด

รวมทั้งคาดว่าจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งในปีหน้ามาขับเคลื่อนภายในประเทศ ทำให้ไทยเติบโตเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและเศรษฐกิจโลก จากทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่น่าจะชัดเจนขึ้น ตลอดจนมีมุมมองบวกต่อดุลบัญชีเดินสะพัดในปีหน้า ถึงแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ไทยเคยทำได้ก็ตาม

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้นคาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้ง ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่อย่างน้อย 1.75% ในสิ้นปีหน้า ขณะที่คาดค่าเงินบาทยังคงอ่อนตัวอยู่ที่ราว 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในครึ่งปีแรก เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง เงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ราว 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

แต่สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่าน่าจะเติบโตได้ต่ำกว่านั้น โดยเติบโตเพียง 3.4% ดีขึ้นเล็กน้อยจากปีนี้ที่ 3.2% แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีเกินคาดในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งจีดีพีเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนถึง 4.5% แต่การฟื้นตัวหลักมาจากการเปิดเมืองและการเปิดรับการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่มากขึ้น

ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จึงกระจุกตัวในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ขณะที่การใช้จ่ายในกลุ่มอื่น ๆ ยังขยายตัวไม่โดดเด่น รายได้คนทั่วไปไม่ได้ปรับขึ้น ราคาสินค้าสูงขึ้นจนคนระมัดระวังการใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังเป็นตัวสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งการสั่งซื้อเครื่องจักรและวัตถุดิบ รวมทั้งภาคการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ แต่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อเนื่อง

การฟื้นตัวยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่ามาจากอุปสงค์ที่อัดอั้นมานานและพร้อมกระโจนใช้จ่าย หรือ Pent-Up Demand ซึ่งมองต่อไปก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงได้ โดยส่งออกน่าจะเริ่มชะลอลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลง โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ​ และยุโรปที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

รวมทั้งการส่งออกของจีนมีแนวโน้มติดลบในปีหน้า ทั้งจากอุปสงค์ตลาดโลกที่อ่อนแอลง ปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน และจากความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน จึงกระทบการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์-ชิ้นส่วน และอิเล็กทรอนิกส์

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวที่ 3.7% เร่งขึ้นจาก 3.2% ในปี 2565 จากกิจกรรมท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทย รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวต่อเนื่อง

และมองการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยจะอยู่ที่ราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพียง 3.4% ชะลอตัวลงจากปีนี้ตามทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าที่อ่อนแรงลง ขณะที่บางภูมิภาคกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยชัดเจน

การส่งออกสินค้าของไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มเติมด้วยปัจจัยเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังทั่วโลกเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในระดับแรงและรวดเร็ว ระดับราคาสินค้าทั่วโลกอาจทรงตัวในระดับสูงนาน

ความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤตขาดแคลนพลังงานในสหภาพยุโรปและภัยธรรมชาติ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดการชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกรุนแรงเกินคาด

ขณะที่ การนำเข้าสินค้าจะขยายตัวเพียง 1.0% ชะลอตัวลงจากปี 2565 ตามราคาพลังงานในตลาดโลกที่เริ่มลดลง ทำให้ดุลการค้าระหว่างประเทศปี 2566 จะขาดดุลน้อยกว่าปีนี้

ttb analytics มองว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะอยู่ที่ราว 18.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 9.5 ล้านคน ในปี 2565 กลุ่มที่จะเข้ามาเที่ยวมากที่สุดยังเป็นนักท่องเที่ยวแถบอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงค์โปร์ และกลุ่มเอเชียตะวันออก คือ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

และคาดเงินเฟ้อปีหน้าจะอยู่ที่ 2.6% ชะลอลงจากปีนี้ที่ราว 6.1% อย่างไรก็ตามระดับราคาสินค้าในประเทศจะยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อไปจนถึงกลางปี 2566 ก่อนจะทยอยลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในครึ่งหลังของปี 2566 ดังนั้นค่าครองชีพที่แพงและหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น จึงยังคงเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อในประเทศอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการบริโภคภาคเอกชน จะสามารถขยายตัวได้ที่ 3.5% เป็นการเติบโตใกล้เคียงค่าเฉลี่ยก่อนโควิดระหว่างปี 2559-2562 ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐอาจลดลง แม้งบประมาณจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ ประกอบกับการชะลอตัวลงของการส่งออกสินค้า จึงประเมินว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 2566 จะขยายตัวที่ 2.6% ชะลอลงจากปี 2565 ที่ 3.0%

เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย โดยรายงานของ Bloomberg ล่าสุดชี้ว่ามีความเป็นไปได้ 100% ที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า หรือในเดือนตุลาคมปี 2566 และโอกาสที่เศรษฐกิจจะถดถอยเร็วกว่า 12 เดือนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ด้านองค์การการค้าโลก (WTO) ปรับลดคาดการณ์การค้าโลกในปีหน้าไปอยู่ที่ระดับ 2.3% จาก 3.2% เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ และผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น เงินเฟ้อ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก

ในปี 2566 เศรษฐกิจไทย จะสามารถฟันฝ่าหลากหลายอุปสรรค ปัญหา เดินหน้าไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ …ต้องติดตาม

Back to top button