หลุมพรางหุ้นทรู-ดีแทค

ลงทุนในตลาดหุ้นเดี๋ยวนี้ ต้องระวัง “หลุมพราง” ที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถจะเอาผิดกับใครได้เลย ต้องจ่าย “ค่าโง่” ส่วนตนไป


ลงทุนในตลาดหุ้นเดี๋ยวนี้ ต้องระวัง “หลุมพราง” ที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถจะเอาผิดกับใครได้เลย ต้องจ่าย “ค่าโง่” ส่วนตนไป เพราะอ่านหนังสือชี้ชวนหรือมติบอร์ดบริษัทไม่ละเอียดถี่ถ้วนเอง

หลุมพรางใหญ่” มาก ๆ เลย ซึ่งชักจะแพร่ระบาดกลายเป็นแฟชั่นนิยมเอาอย่างกันก็คือ กรณีหุ้น IPO ที่มีรายการเพิ่มทุนก่อน IPO ให้แก่เจ้าของหรือสมัครพรรคพวก ในราคาต่ำกว่า IPO ที่จะขายนักลงทุนทั่วไป

แสบสันยิ่งกว่านั้น ก็คือออกมติบอร์ดจ่าย “เงินปันผล” ก่อนหุ้นเข้าซื้อขาย และแสบสันดับเบิ้ลยิ่งไปกว่านั้นเลยก็คือ แทนจะจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสม กลับใช้วิธีกู้เงินมาจ่ายปันผล

โดยอ้างการดำรงสภาพคล่องของบริษัท

นักลงทุนที่จองซื้อหุ้นไอพีโอ ก็เลยตกสภาพ “เหยื่อรายใหม่” ที่ไม่ได้ร่วมเสวยสุขกับเงินปันผลของบจ.ก่อนเข้าตลาด แถมต้องมาแบกรับหนี้บริษัทโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวอีกโสตหนึ่งด้วย

ที่ปรึกษาการเงินหรือ FA ที่นำหุ้นเข้าตลาด ก็ตั้งราคาหุ้นแบบเต็มคาราเบลแทบไม่มีส่วนลด เพื่อโกยเงินระดมทุนเข้าบริษัทให้มากที่สุด อันหมายถึงตนเองก็มีรายได้จากการชักเปอร์เซ็นต์ค่าธรรมเนียมสูงขึ้นตามไปด้วย

บจ.ผู้ออกหุ้นและ FA ตลอดจนโบรกเกอร์ที่เกี่ยวข้อง ก็บอกว่า กรรมวิธีอันเอาเปรียบนักลงทุนดังกล่าว ได้มีการแจ้งไว้ในหนังสือชี้ชวน ไม่ได้ปิดบังอะไรนี่

แต่ขอโทษที! หนังสือชี้ชวนน่ะ มันหนาตั้ง 200-300 หน้า ส่วนที่บอกว่าแจ้งนักลงทุนทราบแล้วนะ มันมีพื้นที่กระจิ๊ดเดียว ใครสักกี่คนจะเป็น “คุณละเอียด” อ่านได้หมดทุกตัวอักษร แถมบางบริษัทก็ยังเอาไปซ่อนไว้ในส่วน “ผู้ถือหุ้น” ซะอีก

น่าห่วงเป็นอย่างยิ่งที่ชักจะเป็นแฟชั่นเลียนแบบ เพราะเป็นพฤติกรรมลวงเหยื่อแบบถูกกฎหมาย ถ้าจะให้แฟร์ ๆ จริงก็ควรจะระบุเป็นปัจจัยเสี่ยงข้อหนึ่งในหนังสือชี้ชวนจะดีไหม

ขอฝากเรียนเพื่อทราบไปยังท่านก.ล.ต.และท่านตลท. ควรมิควรประการใด ก็สุดแต่ระดับความตระหนักในปัญหา ณ ที่นี้ด้วย

ส่วนอีกกรณีหนึ่ง ไม่ถึงกับจะร้ายแรงเท่ากรณีข้างต้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็กระทำการโดยเปิดเผย เพียงแต่กระทำกันในวงจำกัด และก็อาจก่อความเสียหายให้แก่นักลงทุนที่มิได้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดได้

นั่นก็คือ “ราคารับซื้อหุ้นคืน” ของ TRUE และ DTAC ที่ยังมีความคลุมเครือว่า บริษัทใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมา จะรับซื้อหุ้นคืนทั้ง 2 บริษัทเป็นการทั่วไปหรือมีเงื่อนไขอะไรไหม

เพราะราคารับซื้อหุ้นคืน สูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน โดยหุ้น TRUE กำหนดรับซื้อคืนหุ้นละ 5.15 บาท แต่ราคาตลาดในราว 4.76 บาท และหุ้น DTAC กำหนดรับซื้อคืน 50.50 บาท แต่ราคาตลาดในราว 44.50 บาท

ก็อย่างที่ว่านั่นแหละ หากนักลงทุนที่ไม่ได้เฝ้าหน้าจอหรือไม่ได้ติดตามข่าวสารใกล้ชิด ก็อาจจะเห็นว่า “ราคารับซื้อ” สูงกว่าระดับราคาปัจจุบัน จึงพากันเข้าลงทุนเพื่อหวัง “ส่วนต่าง” โดยไม่ล่วงรู้ว่า เงื่อนไขการรับซื้อหุ้นคืนนั้น มีให้ในกรณีผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการเท่านั้น

ในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติเห็นชอบในการควบรวมกิจการ 2 บริษัทในวันที่ 3 ต.ค. 65 มีผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่เห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 0.7397 หรือจำนวนหุ้นประมาณ 200 ล้านหุ้นเท่านั้น จึงกำหนดให้มีการรับซื้อหุ้นคืนเฉพาะผู้ไม่เห็นด้วยในการควบรวมดังกล่าว

ฉะนั้น นักลงทุนผู้เข้าลงทุนหลังวันประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าว จึงไม่ได้สิทธิขายหุ้นคืนดังกล่าว ขอเรียนให้ทราบโดยถ้วนทั่วกัน

Back to top button