JD CENTRAL สังเวยสงครามอี-คอมเมิร์ซ

เรียกว่าสะเทือนวงการ “อี-คอมเมิร์ซ” ไม่น้อย เมื่อจู่ ๆ JD CENTRAL หนึ่งในแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ประกาศยุติการให้บริการ


เรียกว่าสะเทือนวงการ “อี-คอมเมิร์ซ” ไม่น้อย เมื่อจู่ ๆ JD CENTRAL หนึ่งในแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ประกาศยุติการให้บริการด้วยถ้อยความว่า“บริษัทขอเรียนแจ้งให้ทราบว่า JD CENTRAL มีความจำเป็นต้องยุติการให้บริการในประเทศไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

การตัดสินใจดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายบริษัท JD.com เพื่อมุ่งเน้นการขยายและพัฒนาธุรกิจในตลาดต่างประเทศ   โดยการสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนข้ามพรมแดนผ่านการกระจายสินค้าและการขนส่งเป็นหลัก

JD CENTRAL รู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณลูกค้า ร้านค้า ผู้ใช้ พาร์ตเนอร์ รวมถึงพนักงานทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนเรามาอย่างต่อเนื่อง เราขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางของเรามาโดยตลอด”

แหละนี่คือ..สัญญาณเตือนภัยเหล่าบรรดา “แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์” ค่ายอื่น ๆ ว่าสงครามนี้เข้ามาง่ายก็จริง..แต่การคงอยู่และต่อสู้กับสนามสงครามนี้..ไม่ง่ายอย่างที่คิดซะแล้ว..!!

จุดกำเนิดของ JD CENTRAL เริ่มต้นเมื่อปี 2560 จาก JD.com แพลตฟอร์มขายออนไลน์ยักษ์ใหญ่จากจีน ที่เริ่มขี่ม้ารอบค่ายเพื่อหวังเจาะเข้าตลาดไทย

สุดท้าย “กลุ่มเซ็นทรัล” จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือกับ JD.com มูลค่าการลงทุนกว่า 17,500 ล้านบาท เพื่อจัดตั้ง JD Central แพลตฟอร์มขายออนไลน์ในประเทศไทย ที่ผสานความแข็งแกร่งเรื่องการขายปลีกจากกลุ่มเซ็นทรัลและความเชี่ยวชาญด้านออนไลน์ของ JD.com

พร้อม ๆ กับการประกาศยุทธศาสตร์ NEW CENTRAL, NEW ECONOMY มุ่งหน้าสู่การเป็นสุดยอด Tech Company และเป็นผู้นำด้าน Digi-Lifestyle Platform แห่งแรกของไทย และตั้งเป้าหมาย JD Central เป็นส่วนสำคัญ ในการขับเคลื่อนยอดขายจากช่องทางออนไลน์เป็น 15% จากรายได้รวม

ทว่า..การทำตลาดของ JD Central ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งอย่าง Lazada และ Shopee ทำให้ JD Central พยายามเจาะลูกค้าระดับกลาง-บน เพื่อหนีการต่อกรกับคู่แข่งทั้ง 2 ค่ายดังกล่าว

แต่ดูเหมือน JD Central ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายทำให้กลุ่มเซ็นทรัล ต้องสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 41.75% เมื่อช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา

อีกหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ JD Central ถึงทางตัน..นั่นคือ “ยิ่งทำ..ยิ่งขาดทุน”..!!?

ข้อมูลอันเป็นที่ประจักษ์คือช่วง 5 ปีก่อนหน้า ไม่เพียงไม่มีกำไร แต่กลับขาดทุนมากขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560 รายได้ 520,000 บาท ขาดทุนสุทธิ 4 ล้านบาท, ปี 2561 รายได้ 458 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 944 ล้านบาท, ปี 2562 รายได้ 1,285 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,343 ล้านบาท, ปี 2563 รายได้ 3,492 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,376 ล้านบาท, ปี 2564 รายได้ 7,443 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,930 ล้านบาท และปี 2565 ดูทรงแล้วไม่แคล้วขาดทุนอีกเช่นกัน

น่าสนใจต่อว่าพ้นจาก JD Central รายต่อไปจะมีอีกหรือไม่และจะเป็นรายใด..เพราะด้วยภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดเลือดพล่านเช่นนี้ เชื่อได้เลยว่า JD Central คงไม่ใช่รายสุดท้ายเป็นแน่..!!??

Back to top button