‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ซีซั่น 2

สงครามรัสเซีย-ยูเครนน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินทั่วโลกต่อไปเป็นระยะ ๆ โดยขึ้นอยู่กับพัฒนาการในแต่ละช่วง


สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะครบรอบหนึ่งปีในวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ แต่การสร้างเซอร์ไพรส์ ด้วยการเยือนกรุงเคียฟของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพียงไม่กี่วันก่อนจะครบรอบปีเป็นสัญญาณว่าสงครามยูเครนจะต้องยืดเยื้อต่อไปเป็นปีที่สองและยากที่จะตั้งความหวังว่ามันจะจบลงในเร็ววัน

“ไบเดน” แถลงว่าเขาเยือนยูเครนเพื่อ ยืนยันความมุ่งมั่นอันแน่วแน่และไม่ย่อท้อต่อประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนและยังประกาศให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนราว 500 ล้านดอลลาร์เพื่อส่งมอบยุทโธปกรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้ง นอกจากนี้ยังเตรียมประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้

การเยือนของไบเดนเป็นการเยือนยูเครนครั้งแรกในรอบเกือบ 15 ปี ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ  ถึงแม้ว่าจะเป็นการเยือนช่วงสั้น ๆ เพียง 5 ชั่วโมง แต่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ และชาวยูเครน ถือว่าเป็นการเยือนที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างชาวยูเครนและชาวอเมริกันและมันช่วยสร้างขวัญกำลังใจและสร้างความหวังให้กับชาวยูเครนอีกครั้งว่านานาชาติยังไม่ทอดทิ้งยูเครนและยูเครนไม่ได้สู้รบเพียงเดียวดาย

ยังไม่รู้ว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการลงโทษอะไรอีก แต่การพูดถึงมาตรการคว่ำบาตรรอบล่าสุดของสหรัฐฯ เกิดขึ้น หลังสหภาพยุโรป (อียู) เผยมาตรการลงโทษรอบที่ 10 ต่อรัสเซียในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเล็งเป้าไปที่การส่งออกมูลค่า 11,000 ล้านยูโร สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและบรรดานักโฆษณาชวนเชื่อชาวรัสเซีย อย่างไรก็ดี มีความสงสัยถึงผลกระทบทางการเงินของมาตรการคว่ำบาตรที่จะยับยั้งประธานาธิบดีวาดิมีร์ ปูติน

แม้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ จะมองไปในทางเดียวกันว่า  การรุกรานยูเครน ถือเป็น “ความพ่ายแพ้” ของปูติน เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถยึดกรุงเคียฟได้สำเร็จ แถมยูเครนยังยึดที่มั่นบางแห่งได้คืนเมื่อไม่นานมานี้  แต่ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก  เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ก็ชี้ว่า ผู้นำรัสเซียไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งปฏิบัติการทางทหารในยูเครนหรือเตรียมแผนสร้างสันติภาพ มิหนำซ้ำยังเตรียมพร้อมสำหรับทำสงครามหรือการรุกรานครั้งใหม่ ระดมกำลังทหารมากขึ้น เตรียมเศรษฐกิจรัสเซียให้พร้อมรับมือกับสงครามและยังติดต่อกับระบอบเผด็จการอื่น ๆ เช่น เกาหลีเหนือและ อิหร่าน

การเยือนยูเครนของไบเดนเกิดขึ้นหนึ่งวันก่อนที่ปูตินจะปราศรัยครั้งสำคัญต่อทั้งสองสภาในวันถัดมา ซึ่งมีการจับตาว่าเขาคิดอย่างไร และวางแผนอย่างไรสำหรับปีที่สองของสงครามตัวแทน เพื่อต่อต้านแสนยานุภาพของรัฐบาลวอชิงตันและนาโต

นอกจากนี้ในวันเดียวกับที่ไบเดน เยือนยูเครน รัฐบาลมอสโก ก็ยังได้รับสัญญาณการสนับสนุนทางการทูตจากจีน เมื่อ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนจะเยือนมอสโก และอาจพบกับปูติน

จีนยังคงแสดงความเป็นกลางต่อความขัดแย้งของยูเครนและรัสเซียในที่สาธารณะ แต่หลายสัปดาห์ก่อนรัสเซียรุกรานยูเครนในปีที่ผ่านมา จีนได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพแบบ “ไร้ขีดจำกัด” กับรัสเซีย และช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ รัฐบาลวอชิงตันก็ได้แสดงความกังวลว่า จีนอาจเริ่มจัดหาอาวุธให้รัสเซีย

การเยือนของไบเดน ในด้านหนึ่งน่าจะเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ว่าโลกยังไม่ทอดทิ้งยูเครน และอีกด้านหนึ่งน่าจะเป็นข้อพิสูจน์แก่รัสเซียว่าสหรัฐฯ วางเดิมพันให้รัสเซียพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ในสงครามนี้ และตัวสงครามรัสเซีย-ยูเครนเองก็จะกลายเป็นสงครามระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกอย่างถาวร

ขณะเดียวกันก็เป็นการย้ำเตือนว่า โลกจะต้องได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อไปเป็นปีที่สอง    และสงครามนี้ไม่มีวันที่จะจบลงเร็วอย่างที่ทุกคนหวัง และที่แน่ ๆ จะยังคงมีพลเรือนและทหารของทั้งสองฝ่ายเสียชีวิต  มีการอพยพและเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ อีกมากมายต่อไป

สิ่งสำคัญที่ต้องจับตามองจากนี้ไป คือ  ชาติตะวันตกจะช่วยยูเครนยันรัสเซียไปได้อีกนานแค่ไหน  และมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ จะสามารถกดดันให้ปูติน ยอมถอนกำลังแล้วหันมาเจรจาสันติภาพอย่างจริง ๆ จัง ๆ เสียทีได้หรือไม่

แต่เมื่อดูจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในรัสเซีย อิทธิพลของปูตินไม่มีแนวโน้มว่าจะสั่นคลอนลงได้ง่าย ๆ เพราะผู้นำฝ่ายค้านก็ถูกจับเข้าคุกไปเกือบหมดแล้ว  แรงบีบภายในประเทศจึงไม่น่าจะกดดันปูตินได้เหมือนเช่นเคย

สงครามรัสเซีย-ยูเครนน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินทั่วโลกต่อไปเป็นระยะ ๆ โดยขึ้นอยู่กับพัฒนาการในแต่ละช่วง และน่าจะเป็น “ซีรีส์ซีซั่น 2” ที่ยาวหลายอีปิโสด

Back to top button