ส่องสุขภาพ ‘แบงก์’ รับเลิกอุ้มหนี้

4 แบงก์ใหญ่ น่าจะมีการปรับตัวและตั้งรับ NPL ที่อาจจะย้อนกลับสู่ระดับสูงไว้แล้ว แต่แบงก์ไหนจะแข็งแกร่งกว่ากันต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน


เส้นทางนักลงทุน

มีความกังวลว่าภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจไม่ต่ออายุมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่จะหมดสิ้นปีนี้ และกลับไปดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ จนทำให้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะกลับมาหลอกหลอนแบงก์อีกครั้ง เพราะอาจจะต้องแบกรับภาระตั้งสำรองในระดับสูงอีกครั้ง

วันนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” จะพาไปสำรวจความแข็งแกร่งของแต่ละแบงก์ว่าเป็นอย่างไร เริ่มจาก 4 แบงก์ขนาดใหญ่ นำโดย บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ถูกยกให้เป็นแบงก์ที่แข็งแกร่งมากเพียงพอที่จะต่อสู้กับปัจจัยลบ ซึ่งผู้บริหาร BBL ตั้งเป้าสินเชื่อรวมในปี 2566 นี้ เติบโตระดับ 4-6% ต่อเนื่องจากปี 2565 ที่เติบโต 3.6% มาจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 5-6%, สินเชื่อต่างประเทศ 5-6% มีตัวขับเคลื่อนสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และการลงทุนเอกชนมาชดเชยการส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำหรือหดตัว

ผู้บริหารเชื่อว่า จะสามารถจัดการ NPL ให้ไม่เกิน 3.5% จากระดับ 3.1% ในปี 2565 ได้ จากอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อ NPL (Coverage Ratio) สิ้นปีก่อนทรงตัวสูงที่ระดับ 260.8% และคาดต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย (credit cost) ลดเหลือราว 1% จาก 1.2% ในปี 2565

BBL มีการถือหุ้นแบงก์ในต่างประเทศ ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียปี 2566 IMF ประเมินว่ายังเติบโตได้ดี คาดจีดีพีไทยที่ 3.7% อินโดนีเซีย 4.8%

BBL เป็นหุ้นที่ได้รับคำแนะนำให้ “ซื้อ” จากโบรกเกอร์จำนวน 14 ราย อีก 1 รายให้ “ถือ” ให้ราคาเป้าหมายตั้งแต่ 156-200 บาท เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก มองบวกต่อปัจจัยพื้นฐานระยะยาว, บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ให้เป้าราคา 187 บาท

ขณะที่ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ผู้บริหารวางเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อ 5-7% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 3.3% หลัก ๆ มาจากสินเชื่อกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เพราะมีความเสี่ยงต่ำ คาดจะเติบโต 4-6% จากการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นกลับมาตามภาวะเศรษฐกิจ รองลงมาคือสินเชื่อรายย่อย 2-4% และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 1-2%

เน้นการเติบโตของสินเชื่อดิจิทัลโลน (Digital Loan) ที่ปล่อยผ่าน KPLUS ที่ปีนี้ตั้งเป้าขยายฐานเป็น 24 ล้านคน จาก 21 ล้านคน กลุ่มนี้มีศักยภาพขยายตัวได้ดี

KBANK จะเพิ่มความระมัดระวังมาก ตั้งแต่ปี 2565 ได้ปรับปรุงการดำเนินงานของ Digital Loan หลายด้าน เช่น การเก็บข้อมูล การติดตามหนี้ และการแบ่ง Scoring Model กลุ่มลูกค้าประเภทต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ

และตั้งเป้าส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin : NIM) ที่ 3.3-3.4% เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ปีก่อน แม้ต้องนำส่งเงินเข้า FIDF และดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้น แต่จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เรื่อย ๆ รวมถึงเพิ่มสัดส่วนปล่อยสินเชื่อลูกค้าที่เป็น High Yield มากขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ (CASA Rate) ซึ่งเป็นต้นทุนดอกเบี้ยหลัก จะขึ้นอยู่กับการแข่งขันของตลาด ซึ่งมองว่ามีโอกาสที่ CASA Rate จะปรับขึ้นเป็น 0.50% ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

แต่ปีนี้การตั้งสำรองยังอยู่ในระดับสูง เพราะต้องการปรับคุณภาพของพอร์ตสินทรัพย์ โดยทยอยปรับชั้นลูกหนี้ Stage 1-2 กลุ่มที่ความสามารถชำระหนี้แย่ลงหลังออกจากมาตรการช่วยเหลือ ลงเป็น NPL ที่ตั้งเป้าคุมไม่เกิน 3.25% ทั้งนี้หากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และ KBANK มีเงินสำรองที่สูงขึ้น จะเริ่มพิจารณาลด Credit Cost สู่ระดับปกติที่ 1.4-1.6% จากปีนี้ 1.75-2%

ผู้บริหารตั้งเป้าค่าธรรมเนียมทรงตัว หลังรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมลดลงตามพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป แต่จะถูกชดเชยด้วยรายได้จากธุรกิจกองทุนรวม ธุรกิจประกัน และธุรกิจเวลท์แมเนจเมนต์ที่ฟื้นตัว

โบรกเกอร์ 10 ราย แนะนำ “ซื้อ” 5 ราย แนะนำ “ถือ” ให้ราคาสูงสุด 198 บาท ต่ำสุด 159 บาท ทั้งนี้ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มอง KBANK ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในปี 2566 เพราะการตั้งสำรองผ่อนคลายลง จากได้ตั้งไว้จำนวนมากแล้วในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นแบงก์ที่รายได้ดอกเบี้ยเติบโตโดดเด่น ทั้งจากการขยายสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ในหลายผลิตภัณฑ์ หากการตั้งสำรองปรับลดลง จะทำให้เห็นภาพการเติบโตของผลการดำเนินงานที่สดใสมากขึ้น คาดจะมีกำไรในปีนี้ 48,187 ล้านบาท เติบโต 34% จากปีก่อน ให้ราคาเป้าหมาย 12 เดือนข้างหน้า 187 บาท

ด้านแบงก์ไทยพาณิชย์ ผู้บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ตั้งเป้าเติบโตของอัตราสินเชื่อรวมปีนี้ 5-8% จากธุรกิจ Consumer Finance รวมถึงเตรียมเปิดให้บริการ Buy Now Pay Later ในปีนี้ ส่วนออโต้ เอกซ์ ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเพิ่มเป็น 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ธุรกิจเทคโนโลยีเริ่มมีแผนจะลดการใช้เงินเพื่อรักษาระดับผลการดำเนินงานไม่ให้เป็นภาระต่องบการเงินมากจนเกินไป และธุรกิจแบงก์จะเน้นขยายสินเชื่อแบบระมัดระวังเช่นเดิม ตลอดจนควบคุมค่าใช้จ่ายที่ 40% แม้จะมีค่าใช้จ่ายจากธุรกิจใหม่เข้ามา

สำหรับการตั้งสำรอง ภาวะเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น และลูกหนี้ในพอร์ตมีความสามารถในการจ่ายชำระเงินคืนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จึงตั้งเป้าลด Credit Cost ลงเหลือ 1.2-1.4% จาก 1.45% บวกหนุนให้ SCB จะมีกำไร

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาด SCB จะมีกำไรในปีนี้ 47,528 ล้านบาท เติบโต 26.6% จากปีก่อน โดยมีโบรกเกอร์ 12 ราย แนะนำ “ซื้อ” 1 ราย แนะนำ “ถือ” ให้ราคาเป้าหมายสูงสุด 145 บาท ต่ำสุด 111 บาท

สุดท้าย บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองปี 2566 การขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ โดยเฉพาะโครงการภาครัฐหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และสินเชื่อรายย่อยที่มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะหันมาขยายตลาดสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น ขณะที่การทำตลาดกลุ่มลูกค้าทั่วไปผ่าน Digital Platform เน้นเชื่อมโยงแอปฯ “เป๋าตังค์” และ “ถุงเงิน” ที่มีฐานผู้ใช้จำนวนมาก มีการเชื่อมโยงธุรกิจบัตรเครดิต ให้พนักงาน KTB แนะนำสินเชื่อจำนำทะเบียน “พี่เบิ้ม” ให้กับลูกค้าแบงก์ จะช่วยสนับสนุนการเติบโต

ส่วนการตั้งสำรองอาจจะปรับขึ้นเล็กน้อยจากความเสี่ยงพอร์ตที่เพิ่มสูงขึ้น จากการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อผลตอบแทนสูง ที่จะดันกำไรสุทธิปีนี้เติบโต 8.2% มาที่ 36,446 ล้านบาท และการจับมือพันธมิตรที่แข็งแกร่งเพื่อจัดตั้งเวอร์ชวลแบงก์ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับคัดเลือก ทำให้มีความน่าสนใจต่อพัฒนาการใหม่ ๆ ให้ราคาเป้าหมาย 12 เดือนข้างหน้า ที่ 21 บาท

จากการส่องสุขภาพของ 4 แบงก์ใหญ่ น่าจะมีการปรับตัวและตั้งรับ NPL ที่อาจจะย้อนกลับสู่ระดับสูงไว้แล้ว แต่แบงก์ไหนจะแข็งแกร่งกว่ากันต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

Back to top button