ฝรั่งขาย กองทุนคุมเชิง รายย่อยซื้อ

นับจากต้นปี 66 มาจนถึง 7 มี.ค.ที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 2,374 ลบ. ส่วนนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเช่นกัน 34,889 ลบ.


นับจากต้นปี 2566 มาจนถึง 7 มี.ค.ที่ผ่านมา

นักลงทุนสถาบันยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 2,374 ล้านบาท

ส่วนนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเช่นกัน  34,889 ล้านบาท

มีเพียงนักลงทุนรายย่อยที่กระโดดเข้ามารับซื้อไปถึง 34,241 ล้านบาท และพอร์ตโบรกเกอร์ซื้อ 3,023 ล้านบาท (การซื้อน่าจะมาจากการออก DW)

มีประเด็นที่น่าสนใจ

นักวิเคราะห์ยังคงประเมินว่า ต่างชาติ หรือฟันด์โฟลว์ จะยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อไป

จากเดิมที่เคยประเมินไว้ว่า ไม่น่าเกินสิ้นเดือน มี.ค.นี้ น่าจะชะลอการขายแล้วล่ะ

การคาดการณ์ตรงนี้เริ่มไม่แน่ซะแล้ว

จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ย เริ่มยากต่อการประเมินมากขึ้น

ล่าสุด “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)

เขาออกมายอมรับว่า ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ต้องมองกันทีละไตรมาส

โดยเฉพาะเดือน มิ.ย. 66

จะเป็นจุดหักเหสำคัญของปีนี้

เหตุผลจากเงินเฟ้ออาจจะดื้อ เพราะขึ้นมาสูงจากราคาน้ำมันและปรับลงไปจากน้ำมัน

แต่พอลงมาเหลือระดับ 6% การจะกดจาก 4% มาเป็น 2% ตามเป้าหมายของเฟด

จึงน่าจะใช้เวลาสักพัก

กลางปีนี้ยังไม่น่าจะเป็นไปได้ ดีที่สุดน่าจะเห็นแค่ 4%

และถ้าตลาดแรงงานยังเป็นแบบนี้คนตกงานต่ำสุดในรอบ 20 ปี เฟดก็คงต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อต่อไป

ทำให้ภาวะแบบนี้ ต่างชาติอาจจะยังขายหุ้นไทย (และในเอเชีย) ต่อไป

ปกติแล้ว เมื่อนักลงทุนต่างชาติซื้อ (หุ้น) ทางกลุ่มสถาบันจะขายออกมา

หรือเมื่อต่างชาติขาย ทางกลุ่มสถาบันจะเข้ามารับซื้อ

ส่วนปี 2566 นี้ จะเห็นว่า เป็นการขายพร้อมกันทั้งสองกลุ่มคือ สถาบัน (กองทุน) และต่างชาติ

ส่วนรายย่อยคือผู้รับซื้อ

ภาวะแบบนี้เหมือนกับให้รายย่อยเข้ามา “รับของ”

นั่นจึงเป็นที่มาของรายย่อยที่ “ติดดอย” กันเพียบ

และวอลุ่มเทรด หรือมูลค่าการซื้อขายหดหายไปพอสมควร

แม้ในช่วงเกือบสองเดือนครึ่งที่ต่างชาติขาย และกองทุนยังขายอยู่

แต่หากเข้าไปดูในช่วงปลายเดือน ก.พ.มาถึงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา จะพบว่า นักลงทุนสถาบัน หรือกลุ่มกองทุนเริ่มกลับเข้ามาซื้อสุทธิบ้างแล้ว

ปัจจัยหนึ่งอาจจะมาจาก ในช่วงต้นปี (เดือน ม.ค.) น่าจะมีคำสั่งขายเกี่ยวกับกองทุน RMF ออกมา

และผ่านมาจนถึงขณะนี้ แรงขายเริ่มหมดแล้ว

แต่ก็ใช่ว่า กองทุนจะเริ่มกลับเข้ามาซื้อทันที

จากข้อมูลของมอนิ่งสตาร์ พบว่า กองทุนหุ้นไทยปี 2565 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 2.3 แสนล้านบาท ลดลง 1.8% จากสิ้นปี 2564

ส่วนแนวโน้มปี 2566 ยังไม่น่าจะมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาเพิ่ม

สังเกตได้จากยังไม่ค่อยพบกองทุนที่ออกใหม่เพื่อลงทุนในหุ้นไทย

ยกเว้นกองทุน SSF และ LTF (มีสัดส่วนลงทุนในหุ้นไม่มากนัก)

นับจากที่ทางกระทรวงการคลัง ยกเลิกการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับกองทุน RMF ต้องยอมรับกันว่า ทำให้เม็ดเงินใหม่หายไปจากตลาดหุ้นไทยพอสมควร

ส่วนเม็ดเงินเก่าที่มีอยู่ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท

จะมีแบ่งทั้งประเภทกองทุน Active Fund และ Passive Fund

อย่าง Passive Fund จะลงทุนในหุ้นที่อ้างอิงดัชนี ปรับไปตาม Index

ส่วน Active Fund ทราบมาว่า มีเงินสดอยู่ในมือกันพอสมควร หลังจากขายกันออกมาค่อนข้างมากในปี 2565

ผ่านมาถึงตอนนี้ แม้จะเริ่มเข้ามารับซื้อบ้าง

แต่ยังถือว่าไม่มาก

ว่ากันว่ากองทุนเองยังต้อง “คุมเชิง” และ “รอดู” สถานการณ์ตลาดให้แน่ชัดก่อน

โดยเฉพาะแรงขายของต่างชาติที่ยังออกมาต่อเนื่อง

นั่นจึงเกิดภาวะที่ต่างชาติกระหน่ำขาย

กองทุนคุมเชิง

และรายย่อยซื้อ (รับของ)

Back to top button