AMANAH ปรับสัญญาดันยอดสินเชื่อ

AMANAH รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 มีกำไรสุทธิ 92.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.17% จากไตรมาส 4/2564 และขยายตัว 51.02% จากไตรมาส 3/2565


คุณค่าบริษัท

บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH โครงสร้างรายได้จำแนกตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นปี 2565 1.รายได้จากสินเชื่อเช่าซื้อ 79.37% 2.รายได้จากสินเชื่อจำนำทะเบียน 0.81% 3.รายได้จากสินเชื่อเพื่อซื้อสินค้า 0.30% 4.รายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการ 7.67% 5.รายได้อื่น ๆ 11.85% AMANAH เริ่มธุรกิจจำนำทะเบียนในเดือน ก.ย. 2565 โดยปัจจุบันปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการจากสินเชื่อเช่าซื้อมาเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งหมด โดยเริ่มมีผลหลังจากเดือน ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน คือ 24% ต่อปี

AMANAH รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 มีกำไรสุทธิ 92.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.17% จากไตรมาส 4/2564 และขยายตัว 51.02% จากไตรมาส 3/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 61.43 ล้านบาท จากการรับรู้กำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขาย (อสังหาริมทรัพย์) ที่ 17 ล้านบาท โดยสินเชื่อรวมไตรมาส 4/2565 ขยายตัว 17% จากไตรมาส 4/2564 จากยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 591 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่ NPL เพิ่มขึ้น 30% จากไตรมาส 4/2564 และสูงขึ้น 5% จากไตรมาส 3/2565 หรือคิดเป็น NPL ratio ที่ 3.9% เทียบกับไตรมาส 3/2565 ที่ 3.8% และไตรมาส 4/2564 ที่ 3.5%

ด้านอัตราผลตอบแทนจากสินเชื่อ (loan yield) ดีขึ้นต่อเนื่องมาที่ 19.0% เทียบกับไตรมาส 3/2565 ที่ 18.8% และไตรมาส 4/2564 ที่ 18.3% จากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ด้านค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ลดลงมาที่ 1.9% เทียบกับไตรมาส 3/2565 ที่ 3.5% และไตรมาส 4/2564 ที่ 3.4% จากการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (LLR/loan) ซึ่งลดลงมาที่ 4.6% เทียบกับไตรมาส 3/2565 ที่ 4.9%

ขณะที่ ทรัพย์สินรอการขายในไตรมาส 4/2565 เพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ที่ 151 ล้านบาท สูงขึ้น 65% จากไตรมาส 4/2564 และเพิ่มขึ้น 27% จากไตรมาส 3/2565 จากปริมาณรถยึดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ปรับลดลง และใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 4 ปี ที่ 26 ล้านบาท AMANAH มีลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อสุทธิ ณ สิ้นปี 2565 จำนวน 3,548 ล้านบาท

โดยตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 183 ล้านบาท คิดเป็น 5.16% ของพอร์ตลูกหนี้เช่าซื้อสุทธิ AMANAH สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้เกินเป้าหมายปี 2565 ที่กำหนดไว้คือไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท โดยอนุมัติสินเชื่อใหม่จำนวนทั้งหมด 2,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 60% (ปี 2564 อนุมัติสินเชื่อใหม่ 1,314 ล้านบาท)

ผู้บริหาร AMANAH ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 2,400 ล้านบาท เร่งตัวขึ้นจากระดับสูงสุดในประวัติการณ์ของบริษัทที่ 2,000 ล้านบาท ในปีก่อน หนุนจากการปรับรูปแบบนิติกรรมสัญญาจากเดิมที่ใช้สัญญาเช่าซื้อ เปลี่ยนเป็นสัญญาสินเชื่อจำนำทะเบียน ส่งผลให้ลูกค้ามีภาระลดลงจากเดิม เพราะไม่ต้องจ่าย VAT 7% เหมือนกับสัญญาเช่าซื้อ ช่วยให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ได้ดีขึ้นมาก โดยเฉพาะภาคใต้ สะท้อนจากยอดปล่อยสินเชื่อรายเดือนที่เร่งตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ทุกเดือนนับตั้งแต่มีการปรับเปลี่ยนสัญญา (เดือน ม.ค. 2566 ยอดปล่อยสินเชื่ออยู่ที่ 150 ล้านบาท ขยายตัว 19.3% จากเดือน ม.ค. 2565)

บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 311 ล้านบาท เนื่องจาก 1.สินเชื่อที่จะขยายตัว 17% จากปี 2565 หนุนโดยลูกหนี้กลุ่ม refinance จากสถาบันการเงินอื่นเพิ่มขึ้นในช่วงที่สถาบันการเงินอื่นเข้มงวดมากขึ้น, การกลับมาเพิ่มสาขา และการขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ 2.ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 4.0% จากการระดมทุนผ่านศูกุ (หุ้นกู้อิสลาม) ที่มีต้นทุนสูงกว่าเงินกู้ยืมของ iBank และ 3.credit cost สูงขึ้นเป็น 3.7% จากการตัดจำหน่ายหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น AMANAH ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 27 มี.ค. 2566 ที่ 3.80 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 12.71 เท่า ต่ำกว่า P/E กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 18.52 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น AMANAH อยู่ที่ 2.11 เท่า ต่ำกว่า P/BV กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 2.13 เท่า

Back to top button