อนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงคาร์บอนเครดิต

ความเป็นจริงบน “โลกธุรกิจยุคใหม่” นโยบายหลักที่มิอาจปฏิเสธได้ คือเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” นั่นทำให้ “คาร์บอนเครดิต” กลายเป็นเมกะเทรนด์


ความเป็นจริงบน “โลกธุรกิจยุคใหม่” นโยบายหลักที่มิอาจปฏิเสธได้ คือเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” นั่นทำให้ “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) กลายเป็นเมกะเทรนด์ ที่กำลังพูดถึงอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยนิยามของคาร์บอนเครดิต คือ“ตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนได้”

โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่อาจมีธุรกิจที่บริหารจัดการให้กระบวนการทำธุรกิจ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมาย จนคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตออกมา มีมูลค่าจนสามารถนำออกขายให้แก่ธุรกิจหรือหน่วยงาน ที่ในกระบวนการทำงานยังมีส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถมาซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยได้ หรืออาจมีธุรกรรมการเงินอื่น ๆ ที่ใช้ “คาร์บอนเครดิต” เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญเพื่อใช้อ้างอิงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ได้ด้วยเช่นกัน

ล่าสุดธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และ PTT International Trading Pte Ltd ประเทศสิงคโปร์ เพื่อการเข้าทำสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Linked Derivatives) นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของตลาดทุนไทย ที่ KTB ออกแบบและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน PTT รวมถึงเป็นการส่งเสริมเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง 2 บริษัท

นอกจากนี้ช่วยพัฒนาตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างองค์กรในประเทศ โดย PTTT ประเทศสิงคโปร์ จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาคาร์บอนเครดิต ที่มีมาตรฐานให้เพื่อใช้สำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกิจกรรมต่าง ๆ ในอนาคต และข้อตกลงยังครอบคลุมถึงการบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ของปตท.ด้วย

 “พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน PTT ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่มีความผันผวนอันเนื่องมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อและนโยบายการบริหารจัดการดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ ปตท. มีนโยบายการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนทางการเงิน ด้วยวิธี Natural Hedge รวมทั้งมีการใช้เครื่องมือการบริหารความเสี่ยงเมื่อมีจังหวะและสถานการณ์ที่เหมาะสม

ธุรกรรมนี้จะเป็นครั้งแรกที่มีการเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิต ถือเป็นนวัตกรรมของตลาดทุนเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการทางการเงินให้กับองค์กรตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนโลกยุคปัจจุบัน  รวมถึงสนับสนุนให้ทั้ง 3 องค์กร มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

“การลงนามบันทึกข้อตกลง Carbon Credit Linked Derivatives  จะมีส่วนสนับสนุนกลยุทธ์ “ปรับ  เปลี่ยน ปลูก” ที่ตั้งเป้า ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2040 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050  พร้อมทั้งเปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมและสร้าง EV Ecosystem รวมทั้งธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน”

จากสถิติการซื้อขายคาร์บอนเครดิต นับตั้งแต่ปี 2559-2565 ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พบว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง เวลาเพียง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว

แหละนี่จึงเป็นสัญญาณบอกเหตุชัดว่า “คาร์บอนเครคิต” เป็นอีกหนึ่งในเมกะเทรนด์แห่งโลกธุรกิจยุคใหม่ไปแล้ว ว่าแต่ธุรกิจใดจะปรับตัวตามทันเทรนด์หรือไม่เท่านั้นเอง..!!??

Back to top button