SET ยังขาดแรงหนุน รอดูงบ 1Q66 และประชุมเฟด พ.ค. กลยุทธ์การลงทุนแนะนำ ‘Selective Buy’

ช่วงที่ผ่านมา ภาพปัจจัยเศรษฐกิจต่าง ๆ บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในระยะต่อไปที่มากขึ้น โดยเงินเฟ้อสหรัฐฯ มี.ค. ขยายตัว 5% ต่ำกว่าคาด


InnovestX มองว่า ช่วงที่ผ่านมา ภาพปัจจัยเศรษฐกิจต่าง ๆ บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในระยะต่อไปที่มากขึ้น โดยเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน มี.ค. ขยายตัว 5% ต่ำกว่าคาด และชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี และเมื่อพิจารณารายละเอียด พบว่าเงินเฟ้อชะลอทั้ง 3 องค์ประกอบใหญ่ ได้แก่

(1) โภคภัณฑ์ จากพลังงาน (2) เงินเฟ้อจาก Supply chain ทรงตัว และ (3) เงินเฟ้อจากภาคบริการ เริ่มลดลง ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงต่อเนื่อง โดย (1) ตัวเลขยอดค้าปลีก ปรับลดลง -1% และ

(2) การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว -0.5% ต่อเดือน

ภาพดังกล่าวสอดคล้องกับรายงาน Fed Beige book ที่ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวและการปล่อยสินเชื่อเริ่มตึงตัวขึ้นหลังเกิดวิกฤตธนาคาร ในขณะที่ Fed Minute ระบุว่าจะเกิด Recession แบบอ่อน ๆ แต่ก็ยังคงขึ้นดอกเบี้ย โดยคณะกรรมการเชื่อว่า หนึ่งในเงื่อนไขที่ Fed จะทำให้เศรษฐกิจชะลอลงคือ สภาพคล่องทางการเงินจะต้องตึงตัวจนสินเชื่อหดตัวลง InnovestX จึงเชื่อว่า Fed น่าจะยังขึ้นดอกเบี้ยอีก 25 bps ในการประชุมเดือน พ.ค. สอดคล้องกับ FedWatch Tool ระบุความเป็นไปได้ของอัตราดอกเบี้ยเป้าหมาย 5.00-5.25% อยู่ที่ 83.7%

ในส่วนของเศรษฐกิจจีน ตัวเลข GDP ดีกว่าคาด โดยเป็นการฟื้นตัวของภาคการบริโภคเป็นหลัก แต่ตัวเลขรายเดือนอื่น ๆ ยังคงชะลอตัวต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนสินทรัพย์ถาวร ประกอบกับตัวเลขภาคอสังหาฯ ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะการลงทุนใน Property ที่ยังหดตัว ทำให้ InnovestX มองว่า ภาพเศรษฐกิจจีนจะยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยปัจจัยที่จะติดตามต่อ คือ ตัวเลขเงินฝากซึ่งปัจจุบันยังขยายตัวสูงกว่าเงินกู้ โดย InnovestX เชื่อว่าอัตราขยายตัวเงินฝากจะเริ่มชะลอลงขณะที่เงินกู้เริ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป ทำให้มองว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 5.3-5.7% ในปีนี้

ส่วนภาพตลาดหุ้นไทย InnovestX มองว่า ช่วงสั้น SET ยังมี Upside จำกัดและมีโอกาสอ่อนตัว เนื่องจากยังขาดปัจจัยหนุน และภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 1/66 คาดยังมีแนวโน้มอ่อนแอ โดยที่หุ้นเทคโนโลยีและธนาคารเล็กของสหรัฐฯ รวมทั้ง บจ. ไทยที่จะออกมาสัปดาห์หน้ามีโอกาสแย่กว่าคาด อีกทั้งมองนักลงทุนอยู่ระหว่างรอดูความชัดเจนทิศทางดอกเบี้ยจากการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 2-3 พ.ค. นี้

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนแนะนำ Selective Buy” ในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะ ดังนี้

1)หุ้น Best of the best ภายใต้วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีพื้นฐานและฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีกำไรในปี 2566-67 เติบโตเฉลี่ยสูงกว่ากำไรของกลุ่มหุ้นที่เราแนะนำ Outperform และ Valuation ไม่แพง โดยซื้อขายด้วย PER และ PBV เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่บริเวณ -1.0 ถึง -2.0 D. จึงมองเป็นโอกาสซื้อสะสม เลือก AU, BBL, BDMS, CPALL และ GULF สำหรับนักลงทุนที่มีหุ้นอยู่แล้ว แนะนำ Let Profit Run

2)หุ้นที่คาดผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 จะออกมาตามตลาดคาด และจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ หรือ ผลการดำเนินงานมีสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 2/66 เลือก HMPRO, ADVANC, KCE, MINT, AOT และ OSP

3)หุ้นปันผลดี ซึ่งปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและราคาหุ้นยังมี Upside น่าสนใจเกิน 15% เลือก AP (XD 9 พ.ค. @65 บาท) และ LH (XD 8 พ.ค. @0.35 บาท) โดยคิดเป็น Div. Yield เกิน 3%

ขณะที่มีกลุ่มหุ้นแนะนำ “ขายหรือหลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน” เนื่องจากผลการดำเนินงานยังไม่สดใส และมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ NRF, LPN, MST, SAWAD, QH, KTC, PSH, THRE, TCAP, MTC, KEX, KISS, TU, CBG, GFPT, BTG, BTS, BEM, JASIF, SAT, IIG และ NER

Back to top button