ต้นตอไฟแพง ร้อนจัด-ก๊าซราคาพุ่ง.!

ปรากฏการณ์ “ดราม่าค่าไฟแพง” ที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ ทำให้ชาวบ้านผู้ใช้ไฟฟ้าเกิดความเข้าใจกันไปต่าง ๆ นานา และนั่นทำให้ประเด็น “ค่าไฟแพง” ถูกหยิบยกไปสู่ประเด็นการเมือง


ปรากฏการณ์ “ดราม่าค่าไฟแพง” ที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ ทำให้ชาวบ้านผู้ใช้ไฟฟ้าเกิดความเข้าใจกันไปต่าง ๆ นานา และนั่นทำให้ประเด็น “ค่าไฟแพง” ถูกหยิบยกไปสู่ประเด็นการเมือง..นั่นยิ่งทำให้เกิด “ความคลาดเคลื่อนของข้อมูล” มากยิ่งขึ้นไปอีก..!!

มีคำชี้แจงแถลงไขจาก “ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล” เลขานุการ รมว.พลังงาน ว่า “ค่าไฟแพง” ช่วงเดือนที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากอากาศร้อนและอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นมากปีนี้ จากเคยอยู่ที่ระดับ 37.2 องศาเซลเซียส เพิ่มเป็น 44.6 องศาเซลเซียส ที่มาพร้อม ๆ กับปรากฏการณ์ “เอลนิโญ่” ที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ Monster Asian Heatwave” ที่มีช่วงเวลาความร้อนสูงสุดเพิ่มขึ้นถึง 50 องศาเซลเซียส ถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย

ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น..นั่นทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง “เครื่องปรับอากาศ” ทำงานหนักมากขึ้น..!!

“อากาศร้อน” จึงส่งผลต่อการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้ามีการกินไฟฟ้ามากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น..หากอุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มขึ้น 6 องศาเซลเซียส จะทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟฟ้ามากขึ้นกว่า 15%

ที่สำคัญ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า..เดือน เม.ย. ค่าไฟฟ้าไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น..เป็นอัตราเดิมที่ใช้ในการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือน (ช่วงม.ค.-เม.ย.) ที่ราคา 4.72 บาทต่อหน่วย (ไม่ได้ปรับขึ้นนะ)

แต่ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น..มาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าคูณด้วยจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้..เมื่อมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

พูดง่าย ๆ..ก็คือ ยิ่งอากาศร้อน การใช้ไฟฟ้าก็จะมากขึ้น ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายมากขึ้น..นั่นเอง

เรื่องนี้..บรรดาผู้ใช้ไฟฟ้าเองสามารถดูปริมาณใช้ไฟฟ้าย้อนหลังได้ 6 เดือน เพื่อมาวิเคราะห์และทำความเข้าใจค่าไฟฟ้าของที่บ้านได้

ในส่วนของค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่แพงขึ้น ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อาทิ มาจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่มาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ถือเป็นต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้า หรือคิดเป็นสัดส่วน 60% ของค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่าย..ซึ่งปัจจุบันต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2.74 บาทต่อหน่วย

ต้นตอของต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น..ก็มาจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลง จากช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ

นั่นจึงทำให้เราต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้า และด้วยราคา LNG ที่ผันผวนและปรับตัวสูงขึ้น จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซีย..

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่อ่อนค่าลงแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ช่วงที่มีการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันด้วย

ส่วนมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้ประชาชนมาตลอด..

ในส่วนผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยครัวเรือนที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย ได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เกือบ 100% และส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 151-300 หน่วย ได้รับส่วนลดค่า Ft 75% ส่วนนี้มีการช่วยเหลือประชาชนมาต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 1 ปี ถือว่าเป็นการดูแลช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของประชาชนกว่า 80% ของประชาชนในประเทศ

จากข้อมูลทั้งหมดนี้..น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนได้ว่า..ทำไม “ค่าไฟถึงแพง” ในช่วงนี้นั่นเอง..!!!

Back to top button