ITV ‘ผี’ การเมือง.!?

หลังบทเรียนสื่อโทรทัศน์ช่วง “พฤษภาทมิฬ” ปี 2535 ที่ข่าวเหตุการณ์นองเลือดตามความเป็นจริงช่วงนั้นมีเพียงสื่อจากต่างประเทศที่ออกอากาศได้


หลังบทเรียนสื่อโทรทัศน์ช่วง “พฤษภาทมิฬ” ปี 2535 ที่ข่าวเหตุการณ์นองเลือดตามความเป็นจริงช่วงนั้นมีเพียงสื่อจากต่างประเทศที่ออกอากาศได้ แต่สื่อโทรทัศน์ไทยทั้งหมดถูกปิดกั้น เนื่องจากอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ ประชาชนจึงถูกปิดกั้น ไม่สามารถรับรู้ข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้

ยุครัฐบาล “อานันท์ ปันยารชุน” จึงมีแนวคิดให้มี “สถานีโทรทัศน์เสรี” และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เปิดให้เอกชนเช่าสัมปทานเพื่อให้มีความเป็นอิสระช่วงปี 2538 กลุ่มบริษัท สยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ที่นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล มีการลงนามสัญญาสัมปทานวันที่ 3 ก.ค. 2538

จนกลายเป็นที่มาของ “สถานีโทรทัศน์ไอทีวี” ที่ดำเนินการภายใต้บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด (ก่อตั้งโดยบริษัทสยามทีวี) เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ 1 ก.ค. 2539 (เวลา 19.00 น.) จนสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการสื่อโทรทัศน์ของไทย ด้านการนำเสนอรายการข่าวและสารคดีเชิงข่าวที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

แต่ “สถานีโทรทัศน์ไอทีวี” ต้องขาดทุนอย่างหนักจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จากนั้นบริษัท สยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด มีการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน ชื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วันที่ 20 ต.ค. 2541

หลังจากนั้นยุครัฐบาล ชวน หลีกภัย มีการแก้สัญญาสัมปทาน โดยอนุญาตให้ผู้ถือหุ้นสามารถถือหุ้น ITV ได้เกิน 10% ได้ และช่วงปลายปี 2544 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นครั้งใหญ่ โดยกลุ่ม “ชินคอร์ปอเรชั่น” (บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ในปัจจุบัน) ตกลงซื้อหุ้นสามัญ ITV จากธนาคารไทยพาณิชย์ กว่า 106 ล้านหุ้น พร้อมทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) จากผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ

นั่นทำให้กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ทำให้พนักงานฝ่ายข่าวบางส่วนไม่เห็นด้วย สุดท้ายกลุ่มผู้บริหาร, พนักงานฝ่ายข่าวบางส่วนตัดสินใจลาออกไป

ปี 2547 กลุ่มชินคอร์ป ทำเรื่องขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน ด้วยการขอลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐปีละ 800 ล้านบาท โดยอ้างว่าจ่ายสูงกว่าเอกชนรายอื่น ๆ และสปน.ผิดสัญญา โดยเปิดให้ช่องสถานีของรัฐมีโฆษณาได้ กระทั่งวันที่ 30 ม.ค. 2547 อนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัย หลังการยื่นแก้ไขสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้ลดค่าสัมปทานเป็นปีละ 230 ล้านบาท

แต่วันที่ 9 พ.ค. 2549 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ กรณีมีข้อพิพาทกับสปน. เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ITV จึงต้องจ่ายค่าสัมปทานเท่าเดิม 1,000 ล้านบาทต่อปี โดยสปน.ได้คำนวณค่าสัมปทานและค่าปรับย้อนหลัง (กรณีการปรับผังรายการ) โดย ITV ยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ทว่า ITV ไม่สามารถชำระค่าปรับจำนวนมหาศาลได้ สปน.จึงได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานกับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV

นั่นทำให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีหยุดออกอากาศตั้งแต่ 24.00 น. วันที่ 7 มี.ค. 2550 เป็นต้นมา..!!

หลังจากวันที่ 24 ก.ค. 2557 หุ้น ITV ถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.)

ปัจจุบัน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ยังคงสถานะเป็นบริษัทอยู่..แต่มิได้ดำเนินกิจการใด ๆ

และอยู่ระหว่างการฟ้องร้องพิพาททางกฎหมายกับสปน. สืบเนื่องจากกรณีอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่าการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้สปน.ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,890 ล้านบาท

โดยสปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้อง และสปน.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด (คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา)

จากรายงานประจำปี 2565 พบว่า ITV มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ 20.5 ล้านบาท (ผลตอบแทนจากตราสารหนี้และตราสารทุน) กำไรสุทธิ 8.5 ล้านบาท

และมีบริษัทย่อย 1 บริษัท คือ บริษัท อาร์ตแวร์มีเดีย จำกัด ให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์, ผลิตรายการโทรทัศน์, ซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ และกิจกรรมการตลาดอื่น ๆ สถานะปัจจุบันของอาร์ตแวร์มีเดียคือหยุดประกอบกิจการ..!!

ทว่า..โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง..! “ซากสื่อ ITV” ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นการเมืองอีกครั้ง..!?

เมื่อ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ยื่นคำร้องต่อกกต.ขอให้ตรวจสอบ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล

มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่..!?

เนื่องจากมีชื่อ “พิธา” เป็นผู้ถือหุ้น ITV จำนวน 42,000 หุ้น

สุดท้าย เรื่องนี้กกต.จะรับลูกหรือส่งลูก..กันอย่างไร..ไม่รู้..!!

แต่ที่รู้ ๆ ITV กลายเป็น “ผีการเมือง” ไปแล้ว..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button