‘หุ้นไฟฟ้า’ สะท้านเกินเหตุ.!?

จากปรากฏการณ์ก้าวไกลแลนด์สไลด์ จนนำไปสู่การเป็น “แกนนำจัดตั้งรัฐบาล” แต่นั่นกลายเป็นเซนติเมนต์เชิงลบต่อหุ้นไฟฟ้าทันที


จากปรากฏการณ์ก้าวไกลแลนด์สไลด์ จนนำไปสู่การเป็น “แกนนำจัดตั้งรัฐบาล” แต่นั่นกลายเป็นเซนติเมนต์เชิงลบต่อหุ้นไฟฟ้าทันที เห็นได้ชัดจากแรงเทขายอย่างหนักกับหุ้นบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และหุ้นไฟฟ้าอื่น ๆ

ซึ่งดูเหมือนกังวลกันไปว่า “นโยบายพลังงานของก้าวไกล” ดูไม่เป็นมิตรกับผู้ประกอบการไฟฟ้าเอาเสียเลย..!!

“ศิริกัญญา ตันสกุล” หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ระบุว่า นโยบายเรื่องไฟฟ้ามีแผนบันได 5 ขั้น ที่เตรียมผลักดัน หากได้เป็นรัฐบาล..นั่นคือ..

ขั้นที่ 1) เปลี่ยนนโยบายจัดสรรก๊าซธรรมชาติ โดยใช้กลไกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สามารถทำได้เลยภายใน 100 วันแรก และเห็นผลจากบิลค่าไฟลดทันที 70 สตางค์ต่อหน่วยในปีแรก พร้อมเร่งเจรจาสัมปทานก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้า

ขั้นที่ 2) เปลี่ยนแดดเป็นเงิน สนับสนุนให้ทุกบ้านเรือน ที่ต้องการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน สามารถทำได้อย่างถูกต้องและเกิดการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายได้เอง

ขั้นที่ 3) เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า โดยผู้ใช้ไฟฟ้าเลือกซื้อไฟฟ้าได้เอง ไม่ผูกขาดจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง และผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถกำหนดว่าจะซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานอะไร

ขั้นที่ 4) การเจรจาปรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัมปทานใหม่ เพื่อลดต้นทุน ที่เกิดขึ้นจาก “ค่าความพร้อมจ่าย” ของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง

ขั้นที่ 5) เดินหน้าทำแผน PDP Net Zero ไม่มีเพิ่มโรงไฟฟ้าฟอสซิล ตั้งเป้าปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด ภายในปี 2580 เพื่อให้ไฟฟ้าทั้งหมด เป็นพลังงานสะอาดให้มากที่สุด

หากถอดรหัส “บันได 5 ขั้น” ของก้าวไกล..ดูเหมือนว่า “หุ้นไฟฟ้า” จะตกใจกันไปเกินเหตุหรือไม่..!?

เริ่มจากขั้นที่ 1 ว่าด้วยค่าไฟฟ้าลดลงทันที 0.70 บาทต่อหน่วย หากว่าทำได้จริง..ย่อมกระทบต่อโรงไฟฟ้าประเภท SPP อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้..แต่หากราคาก๊าซธรรมชาติปรับลงด้วย..ผลกระทบเชิงลบจะมีขอบเขตที่จำกัดไปด้วย..

ส่วนเรื่องเจรจาสัมปทานก๊าซธรรมชาติบนพื้นที่ทับซ้อน..เพื่อลดการนำเข้าก็เป็นเรื่องที่ปัจจุบันพึงกระทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลากันอีกยาวนาน

มาถึงขั้นที่ 2 ว่าด้วยเรื่องสนับสนุน “ติดแผงโซลาร์เซลล์ทุกบ้าน” เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ถือว่าเป็นเมกะเทรนด์ แต่ในทางปฏิบัติด้วยข้อจำกัดค่าใช้จ่าย..อาจทำได้เพียงบ้านของคนระดับกลางขึ้นไปเท่านั้น…นั่นทำให้ผลกระทบต่อหุ้นไฟฟ้าจึงมีขอบเขตจำกัดเช่นกัน

ส่วนขั้นที่ 3 ว่าด้วยเรื่อง “เลือกซื้อไฟฟ้าโดยเสรี” ถือเป็นเรื่องที่จะต้องปรับรื้อกันทั้งระบบ..ถือเป็นเรื่อง “พูดง่าย..แต่ทำได้ยาก” ต้องมีการแก้กฎหมาย..เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา..จนไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในรัฐบาลก้าวไกลก็เป็นได้

ขณะที่ขั้นที่ 4 การแก้ไข “สัญญาซื้อขายไฟฟ้า” กับเอกชนผู้รับสัมปทาน..หากมองด้วยเงื่อนไขข้อกฎหมาย แทบไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้เลย..เพราะสัญญาขายไฟฟ้าเป็นส่วนสำคัญในเงื่อนไขการทำ “โปรเจกต์ไฟแนนซ์”..นั่นเท่ากับว่า การแก้ไขหรือ เปลี่ยนแปลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้า..อาจนำไปสู่การฟ้องร้องต่อรัฐได้

ที่สำคัญเสี่ยงต่อการเกิด “ค่าโง่ไฟฟ้า” ตามมา..ดั่งเช่น “ค่าโง่ทางด่วน” และค่าโง่อื่น ๆ อันเป็นที่ประจักษ์กันมาแล้ว..!!

ส่วนบันไดขั้นที่ 5 ว่าด้วย “แผน PDP Net Zero” ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่กระทรวงพลังงานปัจจุบันดำเนินการ ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2565-2580 หรือ “แผน AEDP 2022” อยู่แล้ว

ในแง่มุมทางสังคม..ความพยายามในการ “ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า” ถือเป็นนโยบายที่ดีงามต่อประชาชนคนไทย

แต่ทว่า..มันต้องอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงด้วยเช่นกัน..!!

Back to top button