เปิด 7 กลุ่มรับผลพวงขึ้นค่าแรง

หุ้นใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดลงแรง ส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลต่อความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่


เส้นทางนักลงทุน

หุ้นใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดลงแรงนับตั้งแต่ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน (12-23 พ.ค. 2566) ส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลต่อความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่

ดังนั้น เมื่อว่าที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล มีการแถลงแนวนโยบายใน MOU 23 ข้อ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จึงได้นำมาพิจารณาควบคู่กับนโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะทำใน 100 วันแรก พบว่ามีเพียงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที 450 บาท ที่จะเห็นผลเร็วสุด ขณะที่นโยบายการปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า, การปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ แม้กระทั่งการนำกัญชากลับเข้าไปอยู่ในบัญชียาเสพติด ยังต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น มี 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ประกอบด้วย

1) อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง เพราะใช้แรงงานจำนวนมาก ต้นทุนอิงค่าแรงขั้นต่ำ เช่น คนงานก่อสร้าง ซึ่งมีสัดส่วน 20-30% ของต้นทุนก่อสร้าง ในกรณีการรับเหมาช่วง หากประเมินค่าแรงอย่างเดียว คิดเป็น 50% ของค่าจ้างเหมาช่วง ต้นทุนที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำจะอยู่ที่ราว 10-15% ของต้นทุนก่อสร้าง ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุก 1% จะกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง 0.10-0.15% ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีอัตรากำไรสุทธิต่ำมาก เพียง 2-3% เท่านั้น การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของต้นทุนก่อสร้าง จึงกระทบต่อกำไรของกลุ่มฯ ค่อนข้างมีนัยสำคัญ

2) อุตสาหกรรมนิคม การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลกระทบต่อยอดขายที่ดินนิคมฯ ในวงจำกัด ตัวอย่างเช่น ช่วงปี 2553-2555 ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงจาก 215 บาท/วัน เป็น 300 บาท/วัน เพิ่มขึ้น 40% แต่ยอดขายที่ดินนิคมฯ ไม่ได้ลดลง เพราะช่วงเวลาดังกล่าวมีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมาเป็นการชดเชยด้วย ในรอบนี้จึงต้องรอติดตามว่าจะมีแนวทางใดเข้ามาดึงดูดความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนเป็นการชดเชย และไทยยังมีจุดเด่นเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน

3) อุตสาหกรรมพัฒนาที่อยู่อาศัย จะกระทบเชิงลบต่อต้นทุนการพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยทุกราย เพราะโครงสร้างต้นทุนหลัก 30-40% มาจากต้นทุนที่ดิน ตามด้วยต้นทุนก่อสร้างและแรงงาน 40-50% ที่เหลือเป็นงานโครงสร้างและอื่น ๆ ประเมินว่าต้นทุนการพัฒนาจะเพิ่มขึ้น 10% กระทบต่อประสิทธิภาพกำไร

แต่ทุกบริษัทจะส่งผ่านต้นทุนใหม่ไปยังราคาขาย โดยอาจปรับขึ้นราคา 5-10% เพื่อรักษามาร์จิ้นไว้ รวมถึงบริหารจัดการต้นทุนอื่น ทั้งนี้ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2565) ผู้ประกอบการยังสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นระดับ 33-35% และอัตรากำไรสุทธิ 13-15% ไว้ได้

4) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสนามบิน มีสัดส่วนค่าแรง 25-30% ซึ่งทุก 30% ที่เพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ จะกระทบต่อประมาณการกำไรปกติราว 6-7% ซึ่งประเด็นค่าแรงขั้นต่ำต่อกลุ่มโรงแรมยังต้องติดตาม เพราะโรงแรมบางแห่งมีโครงสร้างรายได้ที่มาจากต่างประเทศด้วย จึงอาจรับผลกระทบต่ำกว่ากลุ่มฯ

ส่วนบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ในช่วงครึ่งแรกปี 2566 (ต.ค. 2565-มี.ค. 2566) มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายพนักงาน 32% แต่ส่วนใหญ่ฐานเงินเดือนไม่ได้อิงกับค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน มีเล็กน้อยที่อิงกับค่าแรงขั้นต่ำในกลุ่มสัญญาจ้าง Outsource จึงคาดว่ากระทบน้อย

5) อุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี โครงสร้างต้นทุนส่วนใหญ่จะอิงกับราคาพลังงาน ค่าเสื่อมราคา เป็นหลัก ขณะที่ค่าใช้จ่ายพนักงาน (SG&A) ส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายในรูปแบบของเงินเดือน โบนัส ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงไม่ได้กระทบโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญต่อโครงสร้างต้นทุน หรือผลการดำเนินงานในกลุ่มนี้

6) อุตสาหกรรมค้าปลีก ผลกระทบจะไม่มากนัก เพราะพนักงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนพนักงานทั้งหมด ราว 10-20% ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงจะมีสัดส่วนต่ำกว่า 0.5% ของยอดขายของแต่ละราย คาดค่าแรงที่สูงขึ้นจะชดเชยได้บางส่วนจากค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มลดลง เช่น ค่าไฟฟ้าที่ลดลง ตามค่า Ft ที่เริ่มลดลงแล้ว ด้านธุรกิจร้านอาหาร ค่าใช้จ่ายพนักงานคิดเป็น 50% ของ SG&A ประเมินทุก 30% ที่เพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ จะกระทบต่อประมาณการกำไรปกติราว 12%

7) อุตสาหกรรมสื่อสาร หรือ ICT ผลกระทบจะน้อยมาก เพราะพนักงานส่วนใหญ่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้งาน AI ช่วยในการดำเนินงานแทนพนักงานด้วย

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์นี้มีสรุปที่น่าสนใจก็คือ หากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท/วัน เกิดขึ้นจริง ผลกระทบของแต่ละอุตสาหกรรมจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งน่าจะอยู่ในวงจำกัด ดังนั้นราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงมาก จึงถือเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นพื้นฐานดี

Back to top button