BAY แสวงน่านน้ำใหม่

ภาพจำของแบงก์สีเหลือง ย่านถนนพระราม 3 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เป็นแบงก์เก่าแก่ที่มีฐานเงินฝากแข็งแกร่ง...


ภาพจำของแบงก์สีเหลือง ย่านถนนพระราม 3 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เป็นแบงก์เก่าแก่ที่มีฐานเงินฝากแข็งแกร่ง…ส่วนพอร์ตในการสร้างรายได้มีการแตกไลน์ไปหลาย ๆ โปรดักส์ ทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกันและสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อย่างสินเชื่อส่วนบุคคลก็จะมีบัตรเครดิตและบัตรเดบิตกรุงศรีเป็นแกนหลัก

ด้านสินเชื่อที่เป็น Hire Purchase เช่น จำนำทะเบียนรถ เช่าซื้อรถมือสอง และธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย หลัก ๆ จะอยู่กับบริษัทลูกที่ชื่อบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR (BAY ถือหุ้น TIDLOR สัดส่วน 30%) และมี “กรุงศรี ออโต้” เป็นหัวหอกในธุรกิจสินเชื่อยานยนต์

ส่วนอีกขาเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน มีทั้งบลจ.กรุงศรี, บล.กรุงศรี ล่าสุดเพิ่งทุ่มงบก้อนโต 5.5 พันล้านบาท ซื้อกิจการ บล.โนมูระ พัฒนสิน เข้ามาอยู่ในพอร์ต เพื่อช่วยเสริมการเติบโตอีกแรง

โอเค…คนส่วนใหญ่รู้จักโปรดักส์ของ BAY แหละ แต่ปัญหาอยู่ที่โปรดักส์ต่าง ๆ มีคู่แข่งในประเทศเยอะ นอกจากบรรดาแบงก์คู่แข่งที่มีโปรดักส์ใกล้เคียงกันแล้วยังมีเหล่านอนแบงก์ทั้งค่ายใหญ่และห้องแถวดาหน้ามาร่วมชิงเค้กนับไม่ถ้วน ทำให้ตลาดนี้กลายเป็นเรดโอเชียน หรือทะเลสีเลือดไปโดยปริยาย

ถ้าจะโตได้ ก็โตแบบจำกัดจำเขี่ย หรือโตด้วยมาร์จิ้นที่ต่ำลง…ทำให้ BAY ต้องออกไปแสวงหาน่านน้ำใหม่เพื่อชดเชยตลาดในประเทศ ซึ่งก็ไปไม่ไกล อยู่ในละแวกใกล้บ้านเรา อย่างประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม..!!

เริ่มด้วยการทุ่มเม็ดเงินลงทุนราว 473.9 ล้านยูโร หรือประมาณ 17,700.8 ล้านบาท ซื้อกิจการให้บริการสินเชื่อผู้บริโภคของ Home Credit ในประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์ แบ่งเป็น ในประเทศอินโดนีเซีย ซื้อหุ้น 75% ของ PT. Home Credit Indonesia จาก Home Credit Indonesia B.V. และ Ms.Wanda Ariestiani Evans มีมูลค่าการลงทุน 176.4 ล้านยูโร หรือราว 6.6 พันล้านบาท

ส่วนในประเทศฟิลิปปินส์จะซื้อหุ้น 75% ของ HC Consumer Finance Philippines, Inc. และ 100% ของ HCPH Financing 1,Inc. และ HCPH Insurance Brokerage, Inc. จาก HC Philippines Holdings B.V. และ Filcommerce Holdings, Inc. โดยมีมูลค่าการลงทุน 297.6 ล้านยูโร หรือราว 1.11 หมื่นล้านบาท

ข้อมูล ณ สิ้นปี 2564 Home Credit เป็นผู้นำในสินเชื่อ ณ จุดขาย (POS loan) PT. Home Credit Indonesia มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันราว 11 ล้านราย และให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าราว 5 ล้านรายในอินโดนีเซีย ส่วน HC Consumer Finance Philippines,Inc. มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันราว 9 ล้านราย และให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้าราวกว่า 8 ล้านรายในฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ BAY ยังเข้าซื้อกิจการบริษัท SHBank Finance Company Limited (SHB Finance) ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อผู้บริโภคในประเทศเวียดนามจาก Saigon-Hanoi Commercial Joint Stock Bank (SHB Bank) มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 3,590.3 พันล้านดองเวียดนาม หรือราว 5.18 พันล้านบาทอีกด้วย

ถ้าวิเคราะห์แต่ละตลาดมีความน่าสนใจ อย่างอินโดนีเซีย เป็นตลาดใหญ่ มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ณ สิ้นปี 2564 มีประชากรราว 273.8 ล้านคน รวมทั้งเป็นประเทศที่มีผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ในสัดส่วน 85% ก็น่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และอื่น ๆ ของ BAY และบริษัทในเครือ

ขณะที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 111 ล้านคน มากเป็นอันดัน 12 ของโลก และคาดจะมีอัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยที่ 6.0-8.0% ในระหว่างปี 2566-2567 ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายสินเชื่อลูกค้ารายย่อย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

ส่วนเวียดนาม เป็นตลาดกำลังโตร้อนแรง โดย IMF คาดการณ์ว่า GDP ของเวียดนามจะโตสูงถึง 5.8% ในปีนี้ และแตะระดับ 6.9% ในปี 2567 ที่สำคัญ ยังเป็นประเทศที่มีผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ในสัดส่วน 86% อีกด้วย

ดูไปแล้ว BAY น่าจะหันมาใช้กลยุทธ์การเติบโตแบบอินออร์แกนิค หรือ M&A มากขึ้นนะเนี่ย..!!

ส่วนการแสวงหาน่านน้ำของ BAY เป้าหมายต่อไปจะเป็นที่ไหนนั้น…อันนี้หนูไม่รู้จริง ๆ…

…อิ อิ อิ…

Back to top button