บจ.จ่ายภาษี 3.75 แสนล.

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีนิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปี 65 มีจำนวนรวมกันกว่า 375,000 ล้านบาท


ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

เปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีนิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปี 2565

มีจำนวนรวมกันกว่า 375,000 ล้านบาท

เข้าใจว่า การนำข้อมูลเรื่องภาษีมาเปิดเผย

อาจจะต้องการสื่อให้เห็นว่า องคาพยพที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น มีการเสียภาษีกันมากน้อยแค่ไหน

และเป็นการสื่อสารออกไปเพื่อ “ตอบโต้” ที่ทางการที่ยังคงความพยายามจะจัดเก็บ “ภาษีหุ้น” ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของ Capital gain Tax และ ภาษีการขายหุ้น

รายละเอียดที่ ตลท.นำเสนอล่าสุดนี้

มีการระบุว่า ตลาดทุนประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องหลายฝ่าย

มีส่วนในการสร้างงาน สร้างนวัตกรรม สร้างกำลังซื้อผ่านการจ้างงาน และสร้างผลกำไร

และถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรายได้ ให้ภาครัฐผ่านการมีส่วนร่วมในการ “จ่ายภาษี” และเป็น “ห่านทองคำ” อีกตัวหนึ่งในการเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2565)

รัฐบาลไทยจัดเก็บภาษีสุทธิหลังหักการจัดสรรแล้วเฉลี่ยปีละ 2.37 ล้านล้านบาท

ส่วนใหญ่ประมาณ 80% จัดเก็บโดยกรมสรรพากร และกว่า 631,000 ล้านบาทเป็นการจัดเก็บ “ภาษีเงินได้นิติบุคคล”

หากพิจารณาเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทยจากงบการเงินรวม

พบว่า ปี 2565 บริษัทจดทะเบียนไทย 813 บริษัท

ทั้งหมดนี้ได้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมสูงสุดในประวัติศาสตร์

ด้วยมูลค่ารวมกว่า 375,000 ล้านบาท

หรือคิดเป็น 50.2% ของภาษีนิติบุคคลที่กรมสรรพากรจัดเก็บทั้งหมดในปี 2565

กลไกการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยช่วยให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น

สังเกตได้จากมูลค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทจดทะเบียน หรือ บจ.นำส่งกรมสรรพากรในช่วง 3 ปีหลังจากเข้าจดทะเบียนซื้อขายฯ

มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เท่าเมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีก่อนเข้าจดทะเบียนฯ

ซึ่งมาจากความสามารถในการสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

และความโปร่งใสในการทำบัญชีที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ภาครัฐจัดเก็บจากบริษัทจดทะเบียน

บริษัทจดทะเบียนยังมีการจ่ายภาษีในรูปแบบต่าง ๆ และไม่รวมถึงภาษีต่าง ๆ ที่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดหุ้นไทยได้จ่ายภาษีให้ภาครัฐ อาทิ

ภาษีอื่น ๆ และรวมทั้งอากร ที่บริษัทจดทะเบียนจ่ายรวมกว่า 277,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ประมาณการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กรมสรรพากรจัดเก็บจากการจ้างงานพนักงานของบริษัทจดทะเบียนไทย ในปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 80,325 ล้านบาท

หรือ 24% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดที่สรรพากรจัดเก็บในปี 2564

ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ที่หักจากนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อมีการจ่ายปันผล ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น

มีมูลค่าสูงกว่า 249,000 ล้านบาท

โดยในปี 2565 ปีเดียวมีการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย รวมสูงกว่า 30,000 ล้านบาท

ตลท. ระบุส่งท้ายว่า “ตลาดหุ้นไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมในฐานะผู้มีหน้าที่จ่ายภาษีให้แก่ภาครัฐ”

Back to top button