อิชิตัน ไตรมาส 2 แรงดีไม่มีแผ่ว

สินค้าใหม่กระแสแรงของ ICHI “ตันซันซู” น้ำอัดลมสไตล์เกาหลี และ “น้ำด่าง อิชิตัน พลัส CBD” จากกัญชง เข้ามาเสริมพอร์ตต่อยอดกลยุทธ์


เส้นทางนักลงทุน

อากาศร้อนปรอทแตก ดันหุ้นบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ร้อนแรงตามไปด้วย นักลงทุนคาดหวังผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2566 จะโชว์ผลงานโดดเด่นไม่แพ้งวดไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

ในไตรมาสก่อน ICHI มีกำไรสุทธิ 222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นกำไรสูงสุด (New High) ในรอบ 28 ไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่มีรายได้ 1,832.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.1%

ตัวหนุนให้กำไรทำนิวไฮในไตรมาสนี้ เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับสูง 21% เป็นผลมาจากประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน ส่วนตัวหนุนรายได้มาจากยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 29.8% ตลาดที่เติบโตโดดเด่น คือกลุ่มตลาดชาพร้อมดื่ม และสินค้าใหม่ ส่วนยอดขายต่างประเทศเพิ่มขึ้น 0.6% ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

สินค้าใหม่กระแสแรงของ ICHI คือ ตันซันซู” น้ำอัดลมสไตล์เกาหลี และ น้ำด่าง อิชิตัน พลัส CBD” จากกัญชง ที่เข้ามาเสริมพอร์ตต่อยอดกลยุทธ์ขยายกลุ่มสินค้า Non-Tea นอกเหนือจากอิชิตัน กรีนที และเย็นเย็น ดันให้มีอัตรากำลังการผลิตเดือนมีนาคม 2566 ทะลุ 100 ล้านขวดต่อเดือน เป็นการผลิตสูงที่สุดเป็นครั้งแรกรอบ 12 ปี นับจากแจ้งเกิดบริษัทเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2553

นอกจากนี้ บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาษีความหวานที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว เนื่องจากได้ปรับสูตรเครื่องดื่มลดน้ำตาลลง ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม แล้วยังช่วยลดต้นทุนลงได้

แม้ไตรมาส 2 จะก้าวเข้าสู่หน้าฝน แต่เมื่ออุณหภูมิความร้อนยังพุ่งปรี๊ด จึงมีโอกาสสูงที่ ICHI จะสร้างตำนานนิวไฮอีกครั้งในไตรมาสนี้

ICHI ถูกยกให้เป็น Top pick ของกลุ่มเครื่องดื่ม ดันให้ราคาหุ้นเทรดกันระหว่างวันวิ่งแรงทำจุดสูงสุดใหม่ พุ่งทะลุไป 15.40 บาท และย่อตัวลงมาปิดที่ 15.20 บาท สำหรับการซื้อขายล่าสุด (9 มิ.ย. 2566)

ถ้าดูในรอบ 1 ปี ราคาถีบตัวจาก 7.20 บาท ไปสูงสุด 15.30 บาท และนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ICHI สร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนแล้ว 32.74% ส่วนคนที่ถือรอกินปันผล ได้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 4%

ในมุมของผู้บริหาร “ตัน ภาสกรนที” กรรมการผู้อำนวยการ ICHI มั่นใจว่า แนวโน้มไตรมาส 2 ปีนี้ผลงานยังคงเติบโตจากอานิสงส์ที่อุณหภูมิร้อนจัด และยังมีปัจจัยหนุนการท่องเที่ยวในประเทศฟื้นแรง รวมทั้งไตรมาสนี้มีเทศกาลหยุดยาวและการเลือกตั้งมาช่วยกระตุ้น จึงมีโอกาสสูงที่ผลประกอบการไตรมาส 2 จะทุบสถิติที่เคยทำไว้ โดยทั้งปี 2566 นี้ ตั้งเป้าหมายอัตรากำไรขั้นต้นมากกว่า 20% รายได้รวมเพิ่มขึ้น 15% แตะ 7,300 ล้านบาท

เส้นชัยที่ “ตัน ภาสกรนที” ตั้งไว้ ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม เพราะภายใต้สภาพอากาศร้อน บวกกับอุตสาหกรรมตลาดชาเขียวกลับมาฟื้นตัว รวมถึงต้นทุนที่ปรับตัวลงจะเป็นตัวส่งเสริม

ในปี 2565 ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มร้อนระอุ มีมูลค่า 13,864 ล้านบาท เติบโต 22.88% จากมูลค่า 11,282 ล้านบาท ในปี 2564 เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มกลับมาจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ซึ่งคาดว่าในปีนี้ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มจะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง

อีกจุดที่น่าสนใจคือ ตลาดส่งออกมีแนวโน้มกลับมาเติบโตได้ รวมถึงการรับจ้างผลิต (OEM) ที่มีออเดอร์ล่วงหน้า 210-220 ล้านบาท ยอดขายในส่วนนี้มีอัตรากำไรขั้นต้น 16-18% มีอัตรากำไรเฉลี่ย 11-12% ถือเป็นระดับที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่า ICHI อาจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ภายใต้แกนนำของพรรคก้าวไกล แต่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะบริษัทใช้แรงงานคนน้อย ขณะที่ส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักร (Automation)

มีโบรกเกอร์ถึง 6 รายส่งสัญญาณให้ “ซื้อ” ICHI ซึ่ง ณ ปัจจุบันราคาหุ้นบนกระดานทะลุราคาเป้าหมายต่ำสุดที่โบรกเกอร์ให้ไว้ที่ 15 บาทไปแล้ว จึงมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะวิ่งหาเป้าหมายสูงสุดที่ 17.20 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี พัฒนสิน ออกบทวิเคราะห์มองโมเมนตัมกำไรไตรมาส 2 ปี 2566 ICHI ที่ 245 ล้านบาท เติบโต 61%  จากปีก่อน และ 10% จากไตรมาสก่อน ยังเด่นมากลำดับต้น ๆ ในกลุ่มฯ คาดรายได้ราว 2 พันล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้น 21.5% เพิ่มจาก 20.8% ในไตรมาส 1 รวมถึงโมเมนตัมช่วงครึ่งหลังปีนี้ คาดยังยืนระดับ 200 ล้านบาทต่อไตรมาสได้ เป็นระดับสูง เกิดจากทั้งยอดขาย รับจ้างผลิต (OEM) บันทึกมากขึ้น

จากการปรับแนวทางการตลาด มาเน้นช่วงโลซีซัน (Low season) ในครึ่งหลังของปีมากขึ้น และการบริหารจัดการผลกระทบ 2 เรื่อง คือ 1.ต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำ คิดเป็นราว 1-2% ของต้นทุนรวม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็น Automation คาดมีพนักงานราว 200-300 คน ที่อยู่ในเกณฑ์ปรับขึ้นค่าแรง โดยทุก 10% ของค่าแรงที่ปรับขึ้น มีผลกระทบต่อกำไรปี 2566 ราว 0.4%

และ 2.ราคาน้ำตาลคิดเป็น 3-4% ของต้นทุนทั้งหมด และปัจจุบันต้นทุนน้ำตาลปรับขึ้นมาราว 10% คาดทุก ๆ 10% ของน้ำตาลปรับขึ้น จะกระทบต่อกำไรปีนี้ 1.8% รวมผลกระทบส่วนนี้ในประมาณการ คาดครึ่งหลังอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับลงเหลือ 20.5% จากช่วงครึ่งแรกของปีที่ 21.1% ให้ราคาเป้าหมาย 17.20 บาท

เห็นราคาหุ้นพุ่งทะยาน และโมเมนตัมของอิชิตันในไตรมาส 2 ที่แรงยังดีไม่มีแผ่วแล้ว เป็นปลื้มแทน “ตัน ภาสกรนที” จริง ๆ

X
Back to top button