‘ฟินเทค’ พลิกโฉมระบบการเงินโลก

สถาบันการเงินเผชิญหน้ากับกระแส Disruptive Technology หรือนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจนทำให้เกิดผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์เดิมต้องถูก Disrupt ไป


ตลอดทศวรรษช่วงที่ผ่านมา สถาบันการเงินเผชิญหน้ากับกระแส Disruptive Technology หรือนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจนทำให้เกิดผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์เดิมต้องถูก Disrupt ไป นั่นจึงทำให้สถาบันการเงินจำเป็นต้องมี Digital Transformation หรือกระบวนการในการนำเทคโนโลยีมาสร้างสิ่งใหม่ เพื่อเปลี่ยนผ่านจากการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมให้เหมาะสมกับธุรกิจยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

แหละนั่นทำให้ FinTech (Financial Technology) หรือ “เทคโนโลยีทางการเงิน” ถูกนำมาใช้ในการเรียกขานบริษัทกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มผู้ประกอบการที่คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการให้บริการด้านการเงินและการลงทุนให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยมีการจำแนก FinTech ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ Traditional Fintech และ Emergent FinTech โดย Traditional FinTech เป็นธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแก่ภาคการเงินโดยทั่วไป เช่น บริษัทผู้พัฒนาบริการ internet banking หรือ mobile banking ให้แก่สถาบันการเงิน

ส่วน Emergent FinTech เป็นธุรกิจหรือกลุ่มผู้ประกอบการ ที่คิดค้นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดบทบาท หรือกำจัดตัวกลางทางการเงินแบบดั้งเดิม เช่น PayPal โดยปัจจุบันธุรกิจ Startup จำนวนไม่น้อยที่ทำธุรกิจ FinTech ในปัจจุบัน

การเกิดขึ้นของ “ฟินเทคสตาร์ทอัพ” (FinTech Startups) ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน มีจุดเด่นคือความชำนาญด้านเทคโนโลยีและลักษณะการดำเนินธุรกิจ (Business Model) รูปแบบใหม่ ที่สามารถปิดช่องว่างที่เกิดขึ้นสำหรับลูกค้า โดยเน้นการให้บริการเฉพาะด้านและมีความคล่องตัวสูง ส่งผลให้มีฟินเทคสตาร์ทอัพ เกิดขึ้นจำนวนมากทั่วโลก

จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ในสหราชอาณาจักรมีจำนวน 1,600 บริษัท เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างประเทศ (Payments and Remittances) และซอฟต์แวร์ด้านการเงิน (Financial Software) ขณะที่สิงคโปร์ มีจำนวนกว่า 500 บริษัท เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) การให้กู้เงินแบบทางเลือก (Alternative Lending) และการชำระเงิน

ส่วนอินโดนีเซีย มีจำนวนกว่า 260 บริษัท เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment) และการให้กู้เงินแบบทางเลือก “ฟินเทคสตาร์ทอัพ” ถูกหมายมั่นที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินทดแทนเทคโนโลยีแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ได้นั่นเอง

ผ่านมาธปท.มีการจัดตั้ง Thailand Blockchain Community Initiative โดยเป็นความร่วมมือของภาคการเงินและภาคธุรกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับบล็อกเชนและการนำบล็อกเชน มาพัฒนาบริการทางการเงินที่หลากหลาย รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานภาครัฐ และสมาคมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานการบริการทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นกันอย่างแพร่หลาย..

ปรากฏการณ์ของ FinTech กำลังทำให้ระบบสถาบันการเงินแบบเดิม ๆ กลายเป็นเรื่องล้าสมัยในที่สุด นั่นจึงทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ต้องเร่งก้าวข้ามผ่านระบบนิเวศการเงินยุคเก่า..สู่ระบบนิเวศการเงินแบบศตวรรษใหม่ เริ่มเห็นได้จากสมาร์ตโฟนที่หลายคนมีอยู่ในมือจะมีแอปพลิเคชันสถาบันการเงินและสามารถทำธุรกรรมทางการเงินครอบคลุมเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเปิดบัญชี โอนเงิน เปิดบัตรเครดิต การลงทุนในตลาดหุ้น การกองทุนรวมต่าง ๆ และการลงทุนเงินดิจิทัลสกุลต่าง ๆ ได้ทั่วโลก

“บิลล์ เกตส์” ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ เคยกล่าวไว้ว่า “Banking is necessary, banks are not.” กล่าวคือ “ระบบการเงินยังมีความจำเป็น แต่สถาบันการเงินไม่ต้องมีก็ได้ ”ถือว่าตอบโจทย์คำว่า  Fintech ได้เป็นอย่างดีทีเดียว..!!

Back to top button