บทเรียนจากจีนพลวัต 2015

วันเวลาที่เฟดกดดอกเบี้ยให้ต่ำ และพิมพ์ธนบัตรออกมาท่วมตลาดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่พังทลายเพราะวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์การเงินถือเป็นยุค "เงินต้นทุนต่ำ" (easy money) ที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทคุ้นเคยมาจนกระทั่วดัชนีตลาดทำนิวไฮสวนทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี กำลังจะสิ้นสุดเป็นทางการในวันพุธที่จะถึงนี้แล้ว ความหวั่นไหวของตลาดทุนจึงเป็นเรื่องต้องทำความคุ้นเคยกันใหม่อย่างเลี่ยงไม่พ้น


วันเวลาที่เฟดกดดอกเบี้ยให้ต่ำ และพิมพ์ธนบัตรออกมาท่วมตลาดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่พังทลายเพราะวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 7 ปีก่อน ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์การเงินถือเป็นยุค เงินต้นทุนต่ำ (easy money) ที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทคุ้นเคยมาจนกระทั่วดัชนีตลาดทำนิวไฮสวนทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี กำลังจะสิ้นสุดเป็นทางการในวันพุธที่จะถึงนี้แล้ว ความหวั่นไหวของตลาดทุนจึงเป็นเรื่องต้องทำความคุ้นเคยกันใหม่อย่างเลี่ยงไม่พ้น

ที่น่าสนใจคือยุคของเงินต้นทุนต่ำที่กำลังจะสิ้นสุดลง ถูกแทรกด้วยราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ย่ำแย่ลงอย่างรุนแรงเพราะจีนบริโภคสินค้าเหล่านี้น้อยลงมาก เป็นปัจจัยแทรกที่ยิ่งทำให้ตลาดแปรปรวนหนักกว่าปกติตามไปด้วย

ก่อนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เพื่อประกาศการสิ้นสุดยุคของเงินต้นทุนต่ำ จีนได้แสดงเจตนาใหม่ว่า จะทำการรับมือกับยุคใหม่นี้ด้วยมาตรการ 3 อย่างที่น่าสนใจคือ1) เปลี่ยนโครงสร้างจากการพึ่งพาการผลิตอุตสาหกรรมพื้นฐาน และส่งออกไปเป็นการบริโภคภายใน และอุตสาหกรรมใหม่ที่ยกระดับคุณภาพการผลิตมากกว่าพึ่งพาแรงงานราคาถูก 2) ใช้นโยบายเศรษฐกิจด้านอุปทาน หรือ supply-sided economy ภายใต้หลักการใช้อุปทานสร้างอุปสงค์ 3) ทำให้ค่าหยวนซึ่งลอยตัวตามสภาพเป็นจริงมากขึ้นในฐานะเงินสากล ถูกลงโดยเจตนาเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เพื่อรับมือกับการแข็งค่าของดอลลาร์ที่กำลังจะตามมา

นโยบายเศรษฐกิจเน้นอุปทานของจีนนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวทางที่แตกต่างจากบริบทของสังคมทุนนิยมทั้งหลาย

นโยบายเศรษฐกิจเน้นอุปทานนั้น มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมากเมื่อสหรัฐในยุคของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน นำเอามาใช้ในช่วงทศวรรษ 1980 ที่เรียกว่า เรแกนโนมิกส์

เรแกนโนมิกส์มีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากต้องการแก้ปัญหา 2 ด้านพร้อมกันคือภาวะเงินเฟ้อพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (stagflation) ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีกระตุ้นอุปสงค์แบบเคนเซียน (Demand Side Economics) ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ต่อมาถูกเรียกง่ายๆ โดยพอล ครุกแมนว่าเป็น “อาหารกลางวันฟรี” (free lunch economy) โดยเอาแนวคิดที่เรียว่า “อุ้มคนรวยช่วยคนจน” (trickle-down effect) มาใช้ ด้วยเน้นหนักที่มาตรการด้านภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเพิ่มผลผลิตมากขึ้น กระตุ้นการจ้างงานต่อเนื่อง อันเป็นแนวทาง “ใช้อุปทาน สร้างอุปสงค์” 

โดยยกเลิกภาวะชะงักงัน และไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อด้วย

มาตรการทางภาษีแบบลดแหลก แจก แถม ปีละ 2.79 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นเวลา 4 ปี ให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อให้เกิดแรงจูงใจต่อหน่วยผลิตให้เพิ่มการลงทุน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเร่งลงทุน เพิ่มการจ้างงาน และเพิ่มกำลังซื้อในตลาด ผลลัพธ์สุดท้ายคือ ทำให้ระดับรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อลดลง ที่สำคัญ การลดภาษีที่ช่วงแรกทำให้รายได้รัฐลดลง จะย้อนกลับมาเป็นรายได้เท่าเดิมหรือมากขึ้นโดยปริยาย เป็นไปตามกฎเส้นโค้งของแลฟเฟอร์ (Laffer Curve)

การใช้มาตรการภาษีอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องเสริมด้วยมาตรการทางการเงิน โดยเฟดในขณะนั้นตัดสินใจลดปริมาณเงินในท้องตลาดลงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อเข้มงวด ผลลัพธ์คือ อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดพุ่งแรง และตามมาด้วยการแข็งค่าดอลลาร์ทั่วโลก ที่ก่อให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมันรอบที่ 2 ของโอเปกตามมาด้วย

ช่วงนั้น หากยังไม่ลืมกัน ฐานะการเงินการคลังของไทยถึงขั้นบอบช้ำรุนแรงเพราะเงินทุนไหลออก จนรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต้องลดค่าเงินบาทหลายครั้ง และยอมมอบตัวรับเงื่อนไขเงินกู้มหาโหดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศถึง 2 ครั้ง พร้อมกับวิกฤตสถาบันการเงินกรณี ทรัสต์ 4 เมษายน 2527″ กับปัญหาเงินกู้ 1.14 ล้านล้านบาทอันลือลั่น

ความสำเร็จของเรแกนโนมิกส์ แม้จะไม่มากเหมือนราคาคุย แต่ก็มีส่วนทำให้พรรครีพับลิกัน ครองอำนาจทางการเมืองในสหรัฐนานกว่า 12 ปี ก่อนเรแกนโนมิกส์จะล่มสลายไปเพราะค่าดอลลาร์แข็งเกินไป

การที่จีนในยุค สี จิ้น ผิง-หลี่ เค่อเฉียง ประกาศจะนำเอานโยบายเศรษฐกิจที่เน้นอุปทานมาใช้เพื่อรักษาการเติบโตของจีดีพีปีละ 6.5% ใน 5 ปีข้างหน้า จึงมีบริบทต่างจากสหรัฐในยุคเรแกนอย่างมาก เพราะจีนไม่ได้มีปัญหาภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน-ภาวะเงินเฟ้อ แต่อยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากการพึ่งพาแรงงานราคาต่ำการลงทุนเอกชน การบริโภค และการส่งออก มาเป็นเศรษฐกิจแบบใหม่ เพื่อก้าวข้ามกับดักชาติรายได้ปานกลางที่รบกวนชาติในเอเชียจำนวนมากยามนี้

คำถามสำคัญคือ อาหารกลางวันฟรี ของจีน จะใช้ได้ผลเหมือนของอเมริกันมากแค่ไหน โดยไม่มีการล้างผลาญทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมากเกินขนาด เป็นโจทย์ที่ท้าทาย

ประเด็นสำคัญที่จีนต้องการแก้ปัญหาด้วยเศรษฐกิจเน้นอุปทานคือ การเคลื่อนย้ายกระบวนการผลิตอุสาหกรรมที่ล้นเกินความต้องการของตลาด และจำนวนพนักงานรัฐวิสาหกิจล้นเกินไปสู่คุณภาพใหม่เพื่อสร้างความคึกคักทางด้านผลิตภาพให้กลไกเศรษฐกิจได้อย่างไร

แม้ว่ามาตรการทางการเงินที่ธนาคารกลางจีน ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากถึง6 ครั้งในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา จะเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจที่เน้นอุปทานที่ดูได้ผลดีในระยะสั้น ดังจะเห็นจากตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายนที่ดีเกินคาด(ทำให้เฟดสบายใจมากขึ้นในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในสัปดาห์นี้) แต่เป้าหมายหลักในระยะยาว ยังคงเป็นเพียงการแก้ปัญหาฉาบหน้า เพราะปัญหาใหญ่กว่าที่ยังแก้ไม่ตกคือ การทำให้รัฐวิสาหกิจ มูลค่าทรัพย์สิน 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เทอะทะ และไร้ประสิทธิภาพมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

แรงผลักดันให้รัฐวิสาหกิจควบรวมกัน เพื่อเขย่าจำนวนคนล้นงานให้เหมาะสม เป็นเรื่องยากลำบากมายาวนาน เพราะโยงเข้ากับการเมืองภายในของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ครั้งสุดท้ายที่มีการเขย่ารัฐวิสาหกิจจีนคือยุคนายกรัฐมนตรีจู หรง จี เมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องครึกโครมอย่างมากเพราะมีการปิดรัฐวิสาหกิจมากถึง 60,000 แห่ง และโละพนักงานมากถึง40 ล้านตำแหน่ง หลังจากนั้นก็แทบจะมีการทำน้อยมาก แต่ครั้งนี้ จำเป็นต้องกระทำอีกรอบหนึ่งอย่างเลี่ยงไม่พ้นหากต้องการใช้นโยบายเศรษฐกิจเน้นอุปทานจริงจัง

การรีดไขมันของรัฐวิสาหกิจจีน จำเป็นต้องมีการจัดลำดับประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ เพื่อเร่งดำเนินการก่อนที่จะเป็นมะเร็งร้ายเรื้อรัง แต่การดำเนินการดังกล่าวจำต้องอาศัยความสามารถที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในการดำเนินการ

เศรษฐกิจเน้นอุปทานของจีนในยุคสี จิ้ง ผิงหลี่ เค่อ เฉียง จึงมีลักษณะจำเพาะ ต่างจากเรแกนโนมิกส์ อย่างมีนัยสำคัญส่วนจะมีชะตากรรมอย่างไร เป็นเรื่องต้องพิสูจน์

บทเรียนจากจีนเช่นนี้ สะท้อนวิสัยทัศน์ผู้กุมอำนาจรัฐจีนได้ชัดเจนว่า มีจุดยืนที่แน่วแน่ในเรื่องการบริหารจัดการเพื่ออนาคตของรัฐได้ล่วงหน้าชัดเจน ต่างจากกรณีของไทย ที่ทางตันของ กับดักชาติรายได้ปานกลาง กลับนำไปสู่การกระชับอำนาจของกองทัพที่ไม่รู้ชัดเจนว่า ทำไปเพื่อเป้าหมายใด นอกจากปกป้องสถาบัน และประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยเท่านั้น

Back to top button