SSP เริ่มแตกไลน์.!?

ในระหว่างที่หุ้นไฟฟ้าขนาดใหญ่กำลังตีปีก...ดีดกลับ รับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคสีส้ม ส่อเค้าไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ


ในระหว่างที่หุ้นไฟฟ้าขนาดใหญ่กำลังตีปีก…ดีดกลับ รับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคสีส้ม ส่อเค้าไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ทำให้แรงกดดันนโยบายลดค่าไฟฟ้า 70 สตางค์ต่อหน่วย ผ่อนคลายลงทันที..!!

ฟากหุ้นไฟฟ้าขนาดกลางอย่างบริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP ของกลุ่ม “ไกรพิสิทธิ์กุล” ที่มี “วรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์” เป็นแม่ทัพนำธุรกิจ กลับมีความเคลื่อนไหนที่น่าสนใจ..แต่รอบนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับไฟฟ้านะ เป็นการแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่

นั่นคือ “ธุรกิจบรรจุภัณฑ์..!!”

แต่ด้วย SSP ซึ่งอยู่กับไฟฟ้ามาทั้งชีวิต ครั้นจะลงทุนสร้างโรงงานบรรจุภัณฑ์เอง ก็คงไม่ถนัด…ที่สำคัญ ไม่ทันกิน อุ๊ย ไม่ทันการณ์ด้วยน่ะสิ แถมในภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันกันสูง มีโอกาสที่จะล้มเหลวสูงอีกด้วย ก็เลยต้องใช้วิธีโตทางลัด ด้วยการไปเทกฯ กิจการอื่น หรือ M&A นั่นเอง..!!

บริษัท สามารถ พลาสแพค จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมจนถึงผู้ผลิตรายย่อย มาตั้งแต่ปี 2557 คือตัวเลือกที่ SSP มองว่าจะเข้ามาช่วยเติมเต็มโครงสร้างรายได้ให้แข็งแกร่งขึ้น…เลยเป็นที่มาของการไปซื้อหุ้นในสัดส่วน 75% มูลค่ารวม 140.83 ล้านบาท

โอเค…แม้ผลการดำเนินงานของสามารถ พลาสแพค ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังสะกดกำไรไม่เป็น…โดยปี 2563 มีรายได้รวม 65 ล้านบาท ขาดทุน 554,629 บาท ส่วนปี 2564 มีรายได้รวม 53 ล้านบาท ขาดทุน 169,500 บาท และปี 2565 มีรายได้รวม 31 ล้านบาท ขาดทุน 11.12 ล้านบาท

แต่ถ้าดูจากรายได้รวมที่ทำได้ปีละหลายสิบล้านบาท ก็ถือว่าไม่น้อยนะ…

แล้วไม่แน่การมาอยู่ภายใต้ชายคา SSP อาจทำให้สามารถ พลาสแพค สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น และอาจพลิกกลับมามีกำไรกับเค้าบ้างก็ได้…ใครจะไปรู้

ส่วนที่สงสัยว่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังหอมหวานอ๊ะป่าว..? ต้องไปดูข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ซึ่งประเมินว่าแนวโน้มตลาดบรรจุภัณฑ์ของไทยในปี 2566 จะแตะ 6.69 แสนล้านบาท เติบโตราว 4% จากปี 2565 ที่มีมูลค่ากว่า 6.44 แสนล้านบาท ตามการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ที่ยังเติบโตร้อนแรงต่อเนื่องทุกปี

นั่นหมายถึงโอกาสทางธุรกิจของสามารถ พลาสแพค ยังเติบโตได้อีกมากเช่นกัน…

ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี กับการที่ SSP ข้ามสายพันธุ์จากไฟฟ้าไปสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์…ส่วนถ้าอยากรู้ว่า SSP เซ้งกิจการต่อจากใครนั้น…ไปหาข้อมูลกันเองแล้วกัน…

ช่วงนี้ไม่อยากพูดเยอะ…มันเจ็บคอ..!?

แต่เชื่อว่า SSP จะคงตีลังกาคิดมาดีแล้วว่า สามารถ พลาสแพค จะมาเป็นตัวหนุน…ไม่ใช่ตัวถ่วงหรอกมั้ง..??

ใช่มั้ยคะ “เฮียวรุตม์” ขาาา…

ขณะที่การแตกไลน์ธุรกิจใหม่ครั้งนี้ เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจเท่านั้น…ไม่แน่ต่อไปอาจได้เห็น SSP ขยับขยายไปลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็ได้…ซึ่งต้องจับตากันต่อไป

แต่เป้าหมายหลักที่ SSP ต้องพุ่งชนก่อนเลย คงหนีไม่พ้นการสะสมพอร์ตไฟฟ้าพลังงานทดแทน (Renewable) ให้มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 232 เมกะวัตต์…

เอาใจช่วยนะคะ…

…อิ อิ อิ..

Back to top button