เช็กอาการหุ้นกลุ่มลีสซิ่ง

หุ้นในกลุ่มลีสซิ่งงวดไตรมาส 2 ปี 2566 กำไรสุทธิยังคงได้รับแรงกดดันจากต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย


เส้นทางนักลงทุน

หุ้นในกลุ่มลีสซิ่งงวดไตรมาส 2 ปี 2566 กำไรสุทธิยังคงได้รับแรงกดดันจากต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้ต้องมีการตั้งสำรอง

ล่าสุด บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ไตรมาส 2 มีกำไร 1,200.10 ล้านบาท ลดลง 13.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 1,380.61 ล้านบาท มีรายได้รวมอยู่ที่ 6,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,216 ล้านบาท หรือ 25.20%

สำหรับในงวด 6 เดือนแรก มีรายได้อยู่ที่ 11,671 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.86% และมีกำไรสุทธิ 2,270 ล้านบาท ขณะที่บริษัทได้ตั้งค่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ตั้งสำรอง) เท่ากับ 1,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้าน บมจ.เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG) ไตรมาส 2 กำไรสุทธิ 80.52 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนกำไรสุทธิ 89.52 ล้านบาท ลดลง 10.05% งวด 6 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 181.49 ล้านบาท เทียบปีก่อนกำไรสุทธิ 156.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.28%

บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) รายงานกำไรไตรมาส 2 ที่ 551 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 433.3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกำไรสุทธิรายไตรมาสสูงที่สุด คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 44.1% งวด 6 เดือนแรกปีนี้มีกำไร 1,004.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.4% จาก 800.27 ล้านบาท ในงวดเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) มีผลกำไรสุทธิไตรมาส 2 ลดลง 5.50% เหลือ 927.23 ล้านบาท จากเดิม 981.41 ล้านบาท เป็นผลจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของพอร์ตสินเชื่อรวม

โดย ณ สิ้นไตรมาสนี้ มีพอร์ตสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 87,245.7 ล้านบาท ขยายตัว 23.5% จากงวดเดียวกันปีก่อน (YoY) โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ จำนวน 76,948.3 ล้านบาท และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ จำนวน 10,297.4 ล้านบาท นอกจากนี้ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น มีจำนวน 3,573.3 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 1.54% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.50% ในไตรมาสแรก ทั้งนี้งวด 6 เดือน กำไรลดลง 2.05% มาอยู่ที่ 1,882.35 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อนที่ 1,921.77 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) คาดว่างวดไตรมาส 3 ปีนี้ TIDLOR จะมีกำไรเพิ่มขึ้นทั้งจากงวดเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อน จากการเติบโตของรายได้รวม ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรวมและค่าธรรมเนียม-บริการ กลบการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายรวม โดยประเมินกำไรปีนี้ที่ 3,527 ล้านบาท ลดลง 3% จากงวดเดียวกันปีก่อน

อีกหนึ่งบริษัทที่ถูกจับตามอง บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ขาดทุนไตรมาส 2 ปีนี้ 2,395.98 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อนมีกำไร 265.42 ล้านบาท ติดลบ 88.92% งวด 6 เดือนแรกขาดทุน 3,239.34 ล้านบาท คิดเป็นติดลบ 85.16% จากที่มีกำไร 480.83 ล้านบาท งวดปีก่อน

ในระหว่างงวด 6 เดือนปีนี้ ได้มีการตั้งสำรองค่าเผื่อการปรับลดมูลค่าของสินค้าคงเหลือจำนวน 947 ล้านบาท เพราะมีการลดลงอย่างมากของราคาขายของสินค้ามือสอง รวมถึงการล้าสมัยและการเสียหายของสินค้าคงเหลือ

นอกจากนี้ มีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากการตั้งสำรองการด้อยค่าในสินทรัพย์ถาวร และมีค่าใช้จ่ายอื่นที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มบริษัทฯ เนื่องจากในระหว่างงวด บริษัทย่อยได้มีการตัดหนี้สูญกลุ่มลูกหนี้ด้อยคุณภาพของสัญญาเช่าซื้อที่บริษัทได้ติดตามทวงถามและพิจารณาแล้วว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ตลอดจนมีการตั้งสำรองสำหรับกลุ่มลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น

สำหรับ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) นั้น บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน ได้ทำการประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 2 ที่ 1,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากงวดปีก่อน และ 3% จากไตรมาสก่อน เพราะมีคาดรายได้ดอกเบี้ย (NII) ที่ 2,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อรวม 72% จากงวดปีก่อน และ 8% จากไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นเติบโต 27% นับจากต้นปีนี้ จากสินเชื่อจำนำทะเบียนและสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์

สำหรับส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 17.7% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 18.4% เพราะการลดลงของอัตราดอกเบี้ยการปล่อยสินเชื่อ (yield on loan) จากการปรับลดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงิน ตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย คาดรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-NII) ที่ 800 ล้านบาท ลดลง 4% งวดปีก่อน และ 6% จากไตรมาสก่อน ตามรายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าขายประกัน คาดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ที่ 1,850 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66% จากงวดปีก่อน และ 4% จากไตรมาสก่อน เพราะค่าใช้จ่ายนายหน้าของธุรกิจเช่าซื้อ

นอกจากนี้ คาดมีความเสี่ยงจากการทยอยรับรู้ผลกระทบจากการตั้งสำรอง (ECL) ที่ 253 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพราะไม่มีผลบวกจากการกลับรายการ (reverse ECL) ของพอร์ตสินเชื่อ BFIT และการเติบโตของสินเชื่อรวม ในด้านคุณภาพสินทรัพย์สินเชื่อจัดชั้น (Gross NPL) เพิ่มขึ้น 57% งวดปีก่อน และ 13% ไตรมาสก่อน ภาพรวม NPL Ratio ลดลงอยู่ที่ 2.47% จาก 2.49% และ Coverage Ratio อยู่ที่ 58% ใกล้เคียงไตรมาสก่อนที่ 56%

และคาดกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปีนี้จะเพิ่มขึ้น หลัก ๆ มาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เปลี่ยนการรับรู้หลังซื้อหุ้นเงินสดทันใจคืนจากธนาคารออมสิน รวมทั้งคาดกำไรสุทธิปีนี้ที่ 5,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากงวดเดียวกันปีก่อน

ในไตรมาส 2/2566 ค่าใช้จ่ายและคุณภาพลูกหนี้ที่อ่อนแอลงเป็นตัวกดดันกำไรกลุ่มลีสซิ่ง

X
Back to top button