ตลาดค่าเงินกับคำถามของคนตาบอด

ท่ามกลางข่าวร้ายที่ท่วมตลาดหุ้นไทยไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง และอัตราดอกเบี้ยของโลกยังคงเป็นขาขึ้น


ท่ามกลางข่าวร้ายที่ท่วมตลาดหุ้นไทยไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง และอัตราดอกเบี้ยของโลกยังคงเป็นขาขึ้นแบบมีคำถามว่ามันเป็นจริงหรือการสร้างสถานการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดฯ กันแน่

ทุกเช้าสิ่งที่คนรับทราบจากสำนักข่าวระหว่างประเทศคือการที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญของโลกรวมทั้งเงินเยนของญี่ปุ่นในการซื้อขายที่ตลาดโตเกียว หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 2550 เมื่อคืนวานนี้

สำนักข่าวเกียวโตรายงานว่า ณ เที่ยงวานนี้ตามเวลาโตเกียว ดอลลาร์เคลื่อนไหวที่ 146.07-146.08 เยน เทียบกับ 146.18-146.28 เยนที่ตลาดนิวยอร์ก และ 145.45-145.47 เยนที่ตลาดโตเกียวเมื่อเวลา 17.00 น.ของเมื่อวานนี้

ค่าเยนต่ำสุดในรอบ 60 ปีเลยก็ว่าได้ก่อนที่จะมีข้อตกลงที่โรงแรมพลาซ่าอันโด่งดังที่ทำให้เงินเยนแข็งค่าจนญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจถดถอยนับตอนนั้นเป็นต้นมา

ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปีเมื่อคืนวานนี้ โดยมีคำอธิบายเพียงง่าย ๆ ว่า นักลงทุนสถาบันซึ่งเป็นขาใหญ่สุดของตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐฯ คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

แล้วข่าวก็รายงานต่ออีกว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.34% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่แถว ๆ 4.46%

คำตอบคือไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าปริมาณเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ล่องหนหายไปไหนจนกระทั่งเงินสดเดือนละกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ที่เฟดฯ ออกมาอัดฉีดตลาดตราสารหนี้ผ่านมาตรการ QE ของเฟดฯ และธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB นานหลายปีเท่า ๆ กัน รวมทั้งเงินสดจาก BOJ อีกเดือนละกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ยังคงมีต่อมาไม่เคยหยุด ยังไม่เคยถูกเรียกกลับคืนไปเลย

คำถามที่ยังไม่มีคำตอบนี้ก็ยังไม่มีใครเฉลยให้กระจ่างได้เลยว่า อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ ยามนี้ที่ผ่านมา 2 ปีเศษ จะจบสิ้นเมื่อใด

คำถามดังกล่าวทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนข้อเท็จจริงกันอีกรอบหนึ่งว่าขนาดของเศรษฐกิจโลกวันนี้ไม่ได้เติบโตต่างจากเมื่อก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์สักกี่มากน้อย ดังนั้นปริมาณเงินสดที่พิมพ์ออกมามากจนล้นเกินความต้องการของตลาดการผลิตสินค้าปกติและไปท่องเที่ยวยังหลงทางในตลาดเก็งกำไรของโลกยามนี้จะกลายเป็นระเบิดเวลาจากการเกิดฟองสบู่ระลอกใหม่ขึ้นมาใน “ช่วงเวลาของมินสกี้” อันน่าสะพรึงกลัวของบรรดานักเศรษฐศาสตร์

แม้ว่าสำนักข่าวระดับโลกอย่างบลูมเบอร์กจะพยายามผลิตงานเขียนปลอบใจทำนองว่า

Inflation Moderation Is No Head Fake This Time

แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันได้ดีว่าไม่สามารถตอบคำถามที่ว่าปริมาณเงินที่ออกมาท่วมตลาดนั้นทำไมจึงล่องหนหายไปดื้อ ๆ

ทุกวันนี้เราได้แต่อ่านข่าวเชิงเทคนิคที่ผลิตออกมาเกี่ยวกับขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของเฟดฯ ในทุก ๆ เดือนประดุจดัง “คนตาบอดที่เดินตามคนตาบอด” อย่างไร้ซึ่งการตั้งคำถามที่เจาะจงและต้องการคำตอบอย่างยิ่ง

หรือว่าเราจะปล่อยให้สถานการณ์นี้ดำเนินไปอย่างไร้คำถาม 

ไม่เบื่อกันบ้างรึไง กับการแสร้งโง่แบบนี้

Back to top button