พาราสาวะถี

เกมการเมืองหลังผ่านฉากของการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จลุล่วงไปแล้ว ก็จะเข้าสู่โหมดการถูกจับตามองกระบวนขับเคลื่อนทัพเพื่อแก้ปัญหาตามที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน


เกมการเมืองหลังผ่านฉากของการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จลุล่วงไปแล้ว ก็จะเข้าสู่โหมดการถูกจับตามองกระบวนขับเคลื่อนทัพเพื่อแก้ปัญหาตามที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ผู้ซึ่งยอมรับแบบถ่อมตนว่า “ยังใหม่” ต่อการบริหารจัดการบ้านเมือง รวมถึงการเมืองทั้งภายในพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล การการันตีคุณสมบัติ ความเหมาะสมของรัฐมนตรีที่มาจากรัฐบาลขั้วเดิม ต้องดูกันยาว ๆ จะซื้อใจ ผูกไมตรีกันได้หรือไม่

หากมองเฉพาะเบื้องหน้าของภาพข่าวต่าง ๆ ที่ปรากฏ อันเป็นแอ็กชันของนายกฯ คนใหม่ ถือว่าอยู่ในการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะภาคธุรกิจ เอกชน การเร่งสร้างผลงานตามที่ได้ตกปากรับคำไว้กับผู้บริหารยักษ์ใหญ่และรายย่อยทั้งหลาย จะถือเป็นบทพิสูจน์ฝีมือการทำงาน แต่ 2 เรื่องแรกที่ต้องทำโดยทันทีเมื่อมีการประชุม ครม.นัดแรกคือ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเติมเงินเข้ากระเป๋าคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปรายละ 1 หมื่นบาท และผ่านเป็นมติ ครม.เรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มี ส.ส.ร.มาเป็นผู้ร่าง

ทางการเมือง เมื่อมองถึงผลประโยชน์ตรงหน้าพรรคที่มีเสียงรองจากเพื่อไทยอย่าง ภูมิใจไทย การพอใจกับ 4 เก้าอี้ว่าการ 4 ช่วยว่าการที่ได้รับ ย่อมไม่สร้างแรงกระเพื่อมใด ๆ เป็นแน่ มีแต่จะหาทางประสานผลประโยชน์เพื่อเป้าหมายการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่น่าจับตามองเป็นพรรคของสองลุงมากกว่า ไม่ใช่เพราะกองเชียร์พรรคแกนนำไม่สนับสนุน แต่เป็นปมความขัดแย้งกันเองของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.กับน้องเล็ก ชนิดที่คนไปต่อไม่อยากมองหน้าผู้ที่ประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว

เหตุผลสำคัญมาจากการโหวตเลือกนายกฯ ที่มี สว.สายน้องเล็กกว่า 100 เสียงยกมือหนุนเศรษฐาเข้าป้าย ขณะที่ฝ่ายพี่ใหญ่ยกมือสวน จากปัจจัยที่หวังว่ามีโอกาสจะรับส้มหล่นถ้าคนของเพื่อไทยไม่ผ่านการโหวต แต่เกมการดึงพรรคแกนนำไปเป็นเพียงแค่พรรคร่วมรัฐบาล กุนซือของฝ่ายน้องเล็กมองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะถ้าคนพรรคนายใหญ่ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็อย่าหวังว่าพรรคขั้วเดิมที่เหลือจะตั้งรัฐบาลได้ เพราะการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่มีใครเล่นด้วยอยู่แล้ว

เมื่อการเมืองว่าด้วยการจัดสรรปันส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีจบลงไปแล้ว คงจะเป็นเรื่องของการหาเสียงมาเติมเพื่อเพิ่มพลังต่อรองทางการเมือง ซึ่งมองกันว่าด้วยความเป็นรัฐบาลผสม 11 พรรค ภายในระยะเวลา 1 ปีน่าจะมีการขยับ เขย่าเพื่อให้เข้ารูปเข้ารอยกันอีกรอบ ไฮไลต์สำคัญคงอยู่ที่ 16 เสียง สส.ประชาธิปัตย์ที่โหวตสวนมติพรรคหนุนเศรษฐา ถูกมองว่าเป็นการทอดสัมพันธ์หวังได้ร่วมรัฐบาลในอนาคต ยิ่งความขัดแย้งภายในพรรคที่ทำท่าว่าจะบานปลายจึงเป็นสัญญาณเตือนว่า ไม่น่าจะอยู่ร่วมชายคากันได้

หนทางเดียวที่บรรดาผู้ทรงอิทธิพลในพรรคจะทำได้คือ การขับ สส.เหล่านั้นพ้นพรรค ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้แทนในสภาจากที่มี 25 เสียง กลายเป็นพรรคต่ำสิบไปในทันที และไม่แน่ว่าอาจจะมี สส.บางส่วนที่ขอร่วมขบวนไปกับ 16 สส.ที่ถูกมองว่าเป็นงูเห่าไปด้วย หากเป็นไปตามนี้ก็เท่ากับว่าคนเหล่านั้นยังคงความเป็นผู้แทนประชาชนสามารถไปหาพรรคสังกัดใหม่ได้ ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าจะไหลเลื้อยไปเข้าค่ายไหนซึ่งก็มีแค่ 3 ตัวเลือก ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ

ถ้าประเมินกันตามศักยภาพ ความใจถึง รวมไปถึงโอกาสที่จะได้รับการตอบรับจากคนปักษ์ใต้ให้ได้กลับมาเป็น สส.สมัยหน้าพรรคของ อนุทิน ชาญวีรกูล ถือว่ามีภาษีดีกว่าใครเพื่อน ส่วนพรรคสืบทอดอำนาจเห็นได้ชัดว่าคะแนนนิยมเป็นรองพรรคของน้องเล็กดูจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่ สส.กบฎพรรคเก่าแก่จะย้ายไปพรรคไหนจึงมองกันได้ไม่ยาก อยู่ที่ว่ากระบวนการภายในของประชาธิปัตย์จะดำเนินการให้ไปถึงจุดนั้นหรือไม่

ความยุ่งยากทางการเมือง นับตั้งแต่พรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จทั้งที่เป็นพรรคชนะเลือกตั้ง ลุกลามมาจนถึงหลังมีรัฐบาลเรียบร้อย ปัญหาเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรก็ยังคาราคาซัง ด้วยข้อบังคับที่ห้ามไม่ให้คนของพรรคซึ่งมี สส.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลก็ยืนยันแล้วว่า อยากให้ ปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ต่อไป จึงไม่ขอรับเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน

หากเป็นเช่นนั้นตามข้อกฎหมายตำแหน่งนี้ก็จะต้องตกไปยังพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกมาเป็นอันดับถัดไปในส่วนของฝ่ายค้านซึ่งก็คือประชาธิปัตย์ แต่ปัญหาก็คือเวลานี้พรรคเก่าแก่ยังไม่มีหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค โดยตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านจะต้องเป็นของหัวหน้าพรรคการเมืองนั้นประชาธิปัตย์จึงไม่อาจรับตำแหน่งนี้ได้ นั่นก็จะทำให้พรรคไทยสร้างไทยอยู่ในข่ายที่จะต้องรับเก้าอี้นี้ไป ถามว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประสงค์ที่จะให้พรรคของตัวเองมีบทบาทตรงนี้หรือไม่

ที่น่าสนใจมากกว่าคงเป็นปัญหาของประชาธิปัตย์ ที่ส่อว่าจะนำมาซึ่งการแยกทางกันระหว่าง สส.รุ่นใหม่กับผู้มากบารมีภายในพรรค โดยมีปัญหาที่แก้กันไม่ตกคือการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีข้อยุติ หากมองไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าคนรุ่นใหม่ทิ้งพรรคไปกันหมด เหลือคนอย่าง ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน แล้วดึงเอา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมากุมบังเหียนพรรค ยังมองไม่ออกว่าจะมีหนทางในการกู้ศรัทธาและเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมาได้อย่างไร

ส่วนพรรคเพื่อไทย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ประกาศลาออกจากความเป็นหัวหน้าพรรคเป็นที่เรียบร้อย เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการที่พรรคสองลุงมาร่วมรัฐบาล แน่นอนว่าฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยย่อมตามแขวะ ตามแซะ ด้วยเหตุที่ว่าไขก๊อกแค่หัวโขนหัวหน้าพรรค แต่ไปรับเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อยู่ร่วมพวกขั้วรัฐบาลเดิมก็ไม่มีความสง่างาม มีการตอกย้ำความเป็นเพื่อไทยการละคร และนำไปเปรียบเทียบกับอภิสิทธิ์ตอนที่ทิ้งทุกอย่างสังเวยกรณีพรรคเก่าแก่ไปอุ้มผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ 

อาจดูเหมือนคล้ายกัน แต่ผลน่าจะต่างกันเพราะเพื่อไทยเทเดิมพันหมดหน้าตักขอได้เข้ามาสู่อำนาจ จากนั้นจะใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ บนความเชื่อที่ว่าจะทำได้ และน่าจะทำให้คะแนนเสียงไม่เสียหายเหมือนกับที่มีผลโพลออกมาล่าสุดว่าความนิยมดำดิ่งสุด ๆ ต้องให้เวลาเป็นตัวตัดสิน เพราะรายทางจากนี้ไปจะเป็นบททดสอบทั้งศักยภาพในการบริหาร ผลสัมฤทธิ์ของการทำงาน และการเมืองภายในพรรคร่วมจะมีเสถียรภาพขนาดไหน

Back to top button