ธุรกรรมการเงินไร้พรมแดน

ระหว่างที่ประชาชนคนไทยกว่า 56 ล้านคน กำลังรอดูความชัดเจนนโยบายเร่งด่วน..ว่าด้วยเรื่อง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ภายใต้รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน”


ระหว่างที่ประชาชนคนไทยกว่า 56 ล้านคน กำลังรอดูความชัดเจนนโยบายเร่งด่วน..ว่าด้วยเรื่อง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ภายใต้รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ล่าสุดอยู่ระหว่างติดตามความชัดเจนว่าจะออกมาในรูปแบบใด จะใช้ผ่าน “บล็อกเชน” หรือว่าแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” อย่างไรก็ยังมิทราบแน่ชัด..!?

แต่ธุรกรรมระหว่างประเทศ มีความชัดเจน..ว่าด้วยเรื่อง “ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ”

โดยช่วงปลายเดือน ส.ค. 66 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางเวียดนาม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มของ 5 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เพื่อสร้างกลไกการชำระเงินข้ามพรมแดนระหว่างกัน ซึ่งจะเข้าร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย-ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ในการทำงานเพื่อเชื่อมระบบการชำระเงินแต่ละประเทศ รวมถึงการใช้ระบบ QR code สำหรับธุรกรรมการค้าปลีก

ทั้งนี้อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกว่า 2,300 ล้านดอลลาร์ เผชิญกับความล่าช้าที่จะผสานเศรษฐกิจให้เป็นหนึ่งเดียวผ่านการค้าและการลงทุน การเชื่อมโยงตลาด และทำให้กระบวนการด้านมาตรฐานทางศุลกากรและภาษีสอดคล้องกันอย่างกลมกลืนไปด้วย

ขณะที่อินโดนีเซีย-มาเลเซีย และไทย ตกลงที่จะทำให้ธุรกรรมข้ามพรมแดน สำหรับสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น ตราสารทุนและพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินท้องถิ่น โดยผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย ระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ใช่เพียงทำให้การค้าและการลงทุนสะดวกขึ้น แต่ยังส่งเสริมความยืดหยุ่น เมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของโลกในด้านอัตราแลกเปลี่ยน

“เราไม่เพียงอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนเท่านั้น แต่รวมถึงความยืดหยุ่นของเราต่อความไม่แน่นอนของอัตราการแลกเปลี่ยนทั่วโลกและธนาคารกลางสหรัฐ” 

โดยอินโดนีเซีย ได้เชื่อมระบบการชำระเงินโดยใช้ QR code กับไทยและมาเลเซียแล้ว และมุ่งที่จะเชื่อมโยงกับสิงคโปร์ภายในปีนี้

ก่อนหน้านี้ช่วงกลางเดือน พ.ย. 65 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารกลางเวียดนาม เปิดตัวการเชื่อมโยงระบบการเงินผ่านการชำระเงินด้วย QR Code ผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือของธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการของทั้ง 2 ประเทศ

การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างไทยและเวียดนาม จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและร้านค้าของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า-ออก ระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อให้การชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างกันมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง..

โดยธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีการนำขีดความสามารถทางเทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มศักยภาพและขยายขอบเขตการให้บริการทางการเงิน เพื่อให้สอดรับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนมาทำธุรกรรมการเงินผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น

ล่าสุด SCB พัฒนาช่องทางชำระเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ Cross Border QR Payment เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม ที่เดินทางมาท่องเที่ยวและจับจ่ายสินค้าและบริการในประเทศไทย ให้สามารถชำระเงินผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด Thai QR Payment และร้านค้าแม่มณีของธนาคารได้ และร่วมเปิดตัวในงาน The Official Launching Ceremony of Vietnam-Thailand Cross-Border Payment Linkage จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 46 ปีความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม

ขณะที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีการพัฒนาระบบการชำระเงินทุกช่องทาง โดยเฉพาะการชำระเงินดิจิทัล ผ่าน Krungthai NEXT ด้วยบริการครอบคลุมทุกการใช้จ่าย รวมถึงบริการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน Cross-Border QR Payment เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

“ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย” ในเวียดนาม ประเมินว่า การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินผ่านธนาคารกลางแห่งชาติ จะช่วยลดความซับซ้อนและเร่งการพัฒนาการชำระเงินข้ามพรมแดน พร้อมเป็นแรงผลักดันการส่งเสริมการพัฒนาการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว มีส่วนช่วยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและธุรกิจต่าง ๆ ให้ทั้ง 5 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และนี่คือ..“เมกะเทรนด์ธุรกรรมการเงิน” ที่จะไม่มีพรมแดนมาขวางกั้นอีกต่อไป..!!??

Back to top button