เหตุเกิดที่อิสราเอลกับโลกาภิวัตน์

กรณีเหตุการณ์ร้ายแรงที่อิสราเอลเป็นเหตุให้มีคนไทยร้อยกว่าคนที่ไปเป็นแรงงานในส่วนเกษตรกลายเป็นเรื่องสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คน


กรณีเหตุการณ์ร้ายแรงที่อิสราเอลเป็นเหตุให้มีคนไทยร้อยกว่าคนที่ไปเป็นแรงงานในส่วนเกษตรกลายเป็นเรื่องสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนและมีคำถามตามมาว่าคนงานที่เสียชีวิตจะได้รับเงินประกันชีวิตที่ทำไว้กับบริษัทประกันภัยหรือไม่ ทั้งนี้เพราะว่าโดยทั่วไปแล้วบริษัทประกันภัยจะไม่คุ้มครองภัยจากสงครามหรือการก่อการร้าย

ดังนั้นการใช้ชีวิตของคนงานไทยในอิสราเอลดังกล่าวคงจะไม่ได้รับการคุ้มครองเว้นเสียแต่ว่าบริษัทประกันชีวิตจะถือว่าการเสียชีวิตของพนักงานไม่ใช่ภัยสงครามหรือภัยก่อการร้าย

กรณีเช่นนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมของคนที่ไปทำงานต่างชาติในเขตแดนที่มีการก่อการร้าย ซึ่งสื่อไทยที่ชอบตีข่าวว่าพวกฮามัสนั้นเป็นพวกก่อการร้ายที่แข็งขืนต่อรัฐบาลอิสราเอลทั้งที่ข้อเท็จจริงขบวนฮามัสคือกลุ่มการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งจากชาวปาเลสไตน์ในดินแดนที่ได้รับการรับรองจากอิสราเอลว่าเป็นประเทศปาเลสไตน์

ปัญหาการสู้รบระหว่างขบวนฮามัสกับรัฐบาลอิสราเอลเป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชนชาติยิวกับปาเลสไตน์มากว่า 2,000 ปี ซึ่งซับซ้อนเกินกว่าคนภายนอกจะเข้าใจ  นับแต่เดวิสต่อสู้กับโกไลแอทที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลฉบับเก่าก่อนพระเยซูและศาสนาคริสต์จะปรากฏขึ้นมา สงครามที่ซับซ้อนคือสงครามครูเสดในคริสต์ศตวรรษที่11-13 ที่สันตปาปาแห่งกรุงโรมประกาศสนับสนุนอย่างเปิดเผยให้นักรบคริสเตียนไปตั้งอาณาจักรครูเสดที่เมืองเยรูซาเลมและสงครามดังกล่าวจบลงด้วยความล้มเหลว หลังจากนั้นอาณาจักรครูเสดก็ล่มสลายไป ปล่อยให้มุสลิมออตโตมันเข้าครอบครองเมืองเยรูซาเลมโดยพวกยิวกลายเป็นชนชาติส่วนน้อยที่อาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าว

ปัญหายิวกับปาเลสไตน์กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสหรัฐฯ และอังกฤษประกาศการรับรองการตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นมาโดยชาวยิวทั่วโลกได้ทำการเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ในอิสราเอลโดยปฏิเสธสิทธิพลเมืองของชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่เดิม ชาวยิวที่กลับเข้ามาร่วมก่อสร้างประเทศได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากโลกตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศ เช่น นำเทคโนโลยีการทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดทำให้พื้นทะเลทรายที่แห้งแล้งกลับกลายเป็นแหล่งส่งออกพืชผลที่สำคัญของโลก ร่วมทั้งผลิตสปริงเกลอร์ที่ใช้แพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบัน  

ท่ามกลางความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ชาวยิวก็ทำการรุกคืบเข้ายึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์และกดให้ลงมาเป็นพลเมืองชั้นสองโดยเฉพาะในเขตฉนวนกาซาซึ่งเคยมีข้อตกลงว่าจะปล่อยให้เป็นพื้นที่ทำมาหากินของชาวปาเลสไตน์ การรุกรานและกดขี่ข่มเหงของพวกยิวต่อปาเลสไตน์นั้นทำให้เกิดการต่อต้านจากพวกปาเลสไตน์ที่เรียกตนเองว่าอัลฟาตานำโดยยัสเซอร์อาลาฟัตซึ่งเป็นขบวนการปลดปล่อยชาวปาเลสไตน์ที่โด่งดังจากปฏิบัติการที่เมืองมิวนิคในเยอรมนีตะวันตกในปี 1972 ระว่างการแข่งขันโอลิมปิก จนทำให้นักกีฬาอิสราเอลบาดเจ็บล้มตายหลายสิบราย

ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้ภาพลักษณ์ของอัลฟาตากลายเป็นผู้ร้ายในสายตาชาวโลกและสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ จนกระทั่งสหประชาชาติต้องรับรองฐานะการดำรงอยู่ของขบวนการดังกล่าว

หลังจากวิกฤติน้ำมันครั้งที่หนึ่งในปี 1973 พวกอาหรับได้รวมตัวกันกดดันอิสราเอลให้รับรองฐานะของปาเลสไตน์ แต่การต่อสู้เพื่อรับรองฐานะของปาเลสไตน์ก็ยืดเยื้อมายาวนานและเพิ่งจะสำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 2010 นี่เอง แต่รัฐบาลอิสราเอลก็ยังละเมิดข้อตกลงและสนับสนุนชาวยิวให้ไปแย่งที่ทำกินของพวกปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาโดยเรียกปฏิบัติการนี้ว่าขบวนการตั้งถิ่นฐานใหม่

ความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับปาเลสไตน์นั้นโทมัส ฟรีดแมนนักเขียนอเมริกันชื่อดังเจ้าของผลงานก้องโลกเรื่อง The world is flat ได้เปรียบเปรยว่าเป็นเสมือนกับการแย่งต้นมะกอกที่ยาวนานโดยไม่มีทางออกบนแผ่นดิน ซึ่งนางโกลดาแมร์นายกรัฐมนตรีอิสราเอลเรียกว่าดินแดนแห่งพันธสัญญาที่พระเจ้าประทานให้โดยไม่มีน้ำมันสักหยดเดียวเมื่อเทียบกับดินแดนมุสลิมในโลกอาหรับที่ร่ำรวยน้ำมันอย่างมหาศาล โทมัสได้สรุปไว้ในหนังสือชื่อว่า The Lexus and the Olive Tree: Understanding Globalization ในปี 1999 ว่าการเลือกกลยุทธ์แบบแย่งชิงต้นมะกอก เกิดจากอาการของโรคสายตาสั้นที่เน้นสร้างอัตลักษณ์ทางเผ่าพันธุ์จนลืมคิดถึงการสร้างอนาคตด้วยขบวนการผลิตแบบโลกาภิวัตน์ เฉกเช่นผู้สร้างรถยนต์เลกซัสของค่ายรถโตโยต้าญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์รถยนต์เลกซัสในสหรัฐฯ อย่างล้นหลามด้วยคำโฆษณาที่ว่า “คุณภาพเบนซ์แต่ราคาโตโยต้า” โดยใช้การผลิตแบบชิ้นส่วนจากชาติกำลังพัฒนาในอาเซียนที่มีต้นทุนต่ำแล้วนำไปประกอบในสหรัฐฯ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าคู่แข่งขันจากยุโรปและสหรัฐฯ เอง

แม้ข้อเขียนของฟรีดแมนจะถูกวิจารณ์ในภายหลังว่าด่วนสรุปมากเกินไปที่มองเห็นแต่ข้อดีของโลกาภิวัตน์ถึงขั้นเชิดชูว่าประเทศที่มีร้านอาหารแมคโดนัลด์ (สัญลักษณ์ของโลกาภิวัตน์) เป็นประเทศที่ปลอดสงครามซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะที่รัสเซียมีแมคโดนัลด์กว่า 300 สาขายังก่อสงครามกับยูเครนที่มีแมคโดนัลด์กว่า 100 สาขา ซึ่งทำให้แมคโดนัลด์ต้องประกาศถอนตัวจากรัสเซียอย่างสิ้นเชิงเมื่อต้นปี 2023 นี่เอง

กรณีที่เกิดขึ้นกับคนไทยในอิสราเอลจึงเป็นที่น่าสนใจว่า คนงานที่เสียชีวิตในอิสราเอลนี้บังเอิญไปอยู่ผิดที่ผิดเวลาของสงครามแย่งต้นมะกอกซึ่งไม่สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ดังข้อสรุปของฟรีดแมน

Back to top button