คนใช้ ‘ทางด่วน – รถไฟฟ้า’ คึกคักหนุน BEM

แนวโน้มธุรกิจของ BEM นั้น ในส่วนของธุรกิจทางด่วนอยู่ในช่วงฟื้นตัว สําหรับ MRT โมเมนตัมธุรกิจยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น


เส้นทางนักลงทุน

นับตั้งแต่มีการนำนโยบายคิดราคาค่าบริการสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดผู้โดยสารของรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายนี้มีความคึกคักมากขึ้น ส่งผลดีต่อบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 รถไฟฟ้าสายสีแดงโชว์ยอดผู้ใช้บริการสูงสุด หรือนิวไฮ นับตั้งแต่เปิดให้บริการมา โดยให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง มีประชาชนมาใช้บริการจำนวน 34,161 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 143 คน-เที่ยว) ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง หรือรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม ให้บริการ 319 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 74,208 คน-เที่ยว

BEM ในฐานะเป็นผู้ได้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) มีจุดเชื่อมต่อกับสายสีแดงที่สถานีบางซื่อ และสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน จึงมีโอกาสได้ประโยชน์จากปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งรวมถึงการที่รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทั้งระบบ (รวมทุกเส้นสี) ซึ่งผ่านระบบตั๋วร่วม

มีการประเมินว่าหากปริมาณผู้โดยสารสายสีน้ำเงินเพิ่ม 10% จะทำให้ประมาณการกำไรของ BEM มี อัพไซด์ (Upside) 10% แต่ในทางกลับกันปริมาณผู้โดยสารสายสีน้ำเงินเพิ่ม 10% ทำให้ค่าโดยสารเฉลี่ยลดลง 10% เช่นกัน จะมีผลต่อประมาณการกำไรและกระทบราคาเป้าหมายของ BEM ในปีหน้าไม่มาก

อย่างไรก็ตาม หากมองระยะสั้น ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ที่นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท สำหรับสายสีแดงและสายสีม่วงยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยจะเห็นผลในไตรมาส 4 แต่ BEM ก็ยังดูโดดเด่น

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส คาดกําไรไว้ที่ 957 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากงวดเดียวกันปีก่อน เนื่องจากจํานวนผู้ใช้บริการทางด่วนและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ส่งผลต่อเนื่องถึงธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ รายได้จึงเพิ่มตามจํานวน eyeball ที่เห็นโฆษณา

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น บวกกับภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ถือเป็นปัจจัยบวกโดยตรงต่อจํานวนผู้ใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้า รวมทั้งไตรมาสนี้ BEM ยังมีรับเงินปันผลจาก บมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) ตามปกติอีก 221 ล้านบาท

แนวโน้มธุรกิจของ BEM นั้น ในส่วนของธุรกิจทางด่วนอยู่ในช่วงฟื้นตัว หลังจากปริมาณจราจรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สําหรับระยะกลางและระยะยาว ธุรกิจทางด่วนมีแนวโน้มเติบโตจํากัด เนื่องจากบริษัทยังไม่มีแผนขยายการลงทุนหรือสร้างทางด่วนสายใหม่ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าปริมาณจราจรบนทางด่วนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว

สําหรับ MRT โมเมนตัมธุรกิจยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น แม้จํานวนผู้โดยสารได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามแนวโน้มระยะกลางและระยะยาวยังคงเป็นบวก โดยได้รับการสนับสนุนจากการขยายเส้นทางเดินรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งจะช่วยให้จํานวนผู้โดยสารโดยรวมในระบบรถไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเชื่อว่าประชาชนจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด

บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ มองงวดไตรมาส 3 นี้ รายได้จากธุรกิจทางพิเศษซึ่งคิดเป็น 54% ของรายได้รวม น่าจะอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% จากไตรมาสก่อน และ 4.8% จากงวดเดียวกันปีก่อน ได้แรงหนุนจากประมาณรถที่ใช้ทางด่วนปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 3 ประมาณรถที่ใช้ทางด่วนเพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อน และ 4% จากงวดปีก่อน สู่ 97.9 ล้านเที่ยว

สําหรับธุรกิจระบบรางที่มีสัดส่วน 39% ของรายได้รวม รายได้จะอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% จากไตรมาสก่อน และ 22.4% จากงวดปีก่อน ทั้งนี้ในไตรมาส 3 จํานวนผู้โดยสารสายสีนํ้าเงินอยู่ที่ 37.8 ล้านเที่ยว เพิ่มขึ้น 31.3% จากไตรมาสก่อน และ 32% จากงวดปีก่อน

ส่วนรายได้จากธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่มีสัดส่วน 7% ของรายได้รวม น่าจะอยู่ที่ 285 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.9% จากไตรมาสก่อน และ 18% จากงวดปีก่อน

กรณีการลดราคาสายสีแดงและสายสีม่วง พบว่าจํานวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สะท้อนถึงผลกระทบที่ค่อนข้างจํากัดต่อกําไรของ BEM

เมื่อปริมาณการใช้ทางด่วนเพิ่มขึ้น บวกกับนโยบายเก็บค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีแดง-ม่วงสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ช่วยดึงให้คนมาใช้บริการ MRT เพิ่มขึ้น โดยไม่ได้รับผลกระทบอะไร เท่ากับว่า BEM ก็น่าจะมีแต่ได้กับได้เท่านั้น

Back to top button