สัญญาณสิ้นสุดดอกเบี้ยขาขึ้น

ตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ประจำเดือน ต.ค. 66 ชะลอตัวลงครั้งแรกรอบ 7 เดือน หลังยอดขายรถยนต์และการใช้จ่ายด้านงานอดิเรกหรือกิจกรรมพิเศษหดตัวลง


ตัวเลขยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ประจำเดือน ต.ค. 66 ชะลอตัวลงครั้งแรกรอบ 7 เดือน หลังยอดขายรถยนต์และการใช้จ่ายด้านงานอดิเรกหรือกิจกรรมพิเศษหดตัวลง ถือเป็นดัชนีบ่งชี้ให้เห็นถึงดีมานด์ชะลอตัวลงนับตั้งแต่ต้นไตรมาส 4/66 และนั่นจึงมีความเป็นได้ว่า “การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย” ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

ขณะที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตรอบ 12 เดือน ลดลงเหลือ 1.3% โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) อยู่ที่ 3.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 4% การลดลงของดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ต.ค.รอบ 3 ปีครึ่ง เกิดจากการที่ราคาน้ำมันเบนซินเริ่มปรับตัวลดลง

จากข้อมูลทางเศรษฐกิจร่วมกับข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ชี้นำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคน มีความเห็นว่า  วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ สิ้นสุดลงแล้ว แต่ยังไม่มีสัญญาณว่า เศรษฐกิจจะไถลไปสู่ “ภาวะถดถอย” หรือไม่.!?

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ลดลง 0.1% ช่วงเดือนต.ค. ส่วนข้อมูลเดือน ก.ย. มีการปรับแก้ไขให้สูงขึ้น นั่นบ่งชี้ถึงยอดขายที่เพิ่มขึ้น 0.9% จากก่อนหน้านี้เพิ่ม 0.7% ทั้งนี้โพลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่ายอดค้าปลีกจะลดลง 0.3%

โดย “ยอดค้าปลีก” คือ สินค้าส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีการปรับตามอัตราเงินเฟ้อยอดขายช่วงเดือน ต.ค. มีความผสมผสาน โดยรายรับจากยอดขายรถยนต์และชิ้นส่วนของดีลเลอร์ปรับลง 1.1%

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างให้เหตุผลว่า ส่วนหนึ่งที่ปรับลดลง เป็นเพราะการสิ้นสุดการสไตรก์หรือการหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐฯ (UAW) ที่อาจกระทบต่อยอดการผลิตรถยนต์

ส่วนยอดขายร้านเฟอร์นิเจอร์ ปรับลง 2.0% ขณะที่รายรับจากการขายวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ทำสวนของร้านค้าตรงของผู้ผลิต (outlet) หดตัวลง 0.3% ยอดขายสินค้าเบ็ดเตล็ดของห้างค้าปลีกปรับตัวลง 1.7% สินค้าด้านกีฬา, งานอดิเรก, เครื่องดนตรีและยอดขายร้านหนังสือปรับตัวลง 0.8%

สำหรับยอดขายร้านเสื้อผ้าไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่รายรับของ outlet จากการขายเครื่องใช้และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 0.6% ยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้น 0.2% แม้ว่าจะมีการจัดโปรโมชั่น Prime Day ครั้งที่ 2

ส่วนยอดขายด้านบริการอาหารและที่จำหน่ายเครื่องดื่ม เป็นเพียงองค์ประกอบเดียว ในภาคบริการจากรายงานที่เพิ่มขึ้น 0.3%

ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ มองว่า “การทานอาหารนอกบ้าน เป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญของการเงินระดับภาคครัวเรือน”

อีกส่วนหนึ่งจากสำนักงานสถิติด้านแรงงานของกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI)  สำหรับอุปสงค์สุดท้าย ลดลง 0.5% ในเดือน ต.ค. เป็นการลดลงครั้งใหญ่สุด นับตั้งแต่เดือน เม.ย.ปี 2563

ทั้งนี้ดัชนี PPI สูงขึ้น 0.4% ช่วงเดือน ก.ย. โดยนักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ไว้ว่า ดัชนี PPI จะเพิ่มขึ้น 0.1% ส่วนรอบ 12 เดือน จนถึงเดือน ต.ค.ปีนี้ ดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 1.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

นั่นเป็นข้อมูลเบื้องต้น เฟดสาขาแอตแลนตา ประมาณการว่า GDP สหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอัตรา 2.2%

ทั้งตัวเลขที่บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคและการค้าส่ง เริ่มผ่อนคลายลงอย่างมาก จากจุดสูงสุดช่วงกลางปี​ที่ผ่านมา ข้อมูลล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ส่งสัญญาณให้เห็นถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้มากถึงระดับ 1% ภายในสิ้นปี 2567

Back to top button