พรรคเพื่อไทยกับชนชั้นกระฎุมพีไทย (ตอนที่สอง)

ความจำเป็นของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำร่วมรัฐบาลผสมจึงออกมาในลักษณะเอาใจกลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นหลัก


ความจำเป็นของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำร่วมรัฐบาลผสมจึงออกมาในลักษณะเอาใจกลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นหลัก

ในยุคร่วมสมัยนี้จะเห็นถึงนโยบายเศรษฐกิจที่อ้างว่าออกมาเอาใจนายทุนน้อยซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเลย จะเห็นได้ชัดถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงเส้นทางของพรรคทักษิณ ชินวัตร ที่ผ่านมาถึง 3 ยุค

ในยุคของพรรคไทยรักไทยได้มีการออกนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่ก้าวหน้าหลายอย่างที่น่าประทับใจ เช่น นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และนโยบายกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท นโยบายผลิตเหล้าหมักเสรี นโยบายเหล่านี้ถูกต่อต้านจากพวกอนุรักษนิยมที่อยู่ในอำนาจรัฐ

หลังจากทักษิณประกาศนโยบายเรื่องผู้ว่าซีอีโอและโอนย้ายข้าราชการครูในเขตสพฐ. (การศึกษาขั้นพื้นฐาน) ไปขึ้นกับเทศบาลและอบต.ได้ทำให้ทักษิณเริ่มสูญเสียฐานสนับสนุนทางการเมืองจากพวกข้าราชการครูและมหาดไทยจนเป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยมีสนธิ ลิ้มทองกุล กับจำลอง ศรีเมืองเป็นแกนนำหลักเสนอข้อเรียกร้องให้นำมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้เพื่อปลดทักษิณออกจากตำแหน่งและตั้งนายกพระราชทานคนใหม่แทนทักษิณ  ระหว่างนั้นมีการลอบสังหารทักษิณถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกวางระเบิดในเครื่องบินการบินไทยที่ทักษิณจะบินไปเชียงใหม่แต่แคล้วคลาดมาได้เพราะทักษิณไปไม่ทัน ครั้งที่สองมีความพยายามลักพาตัวทักษิณจากรถยนต์ที่ปั๊มน้ำมันแถวดอนเมืองแต่รปภ.ของทักษิณช่วยไว้ได้ ครั้งที่สามมีการนำรถบรรทุกระเบิดไปจอดไว้บนเส้นทางเข้าออกบ้านจันทร์ส่องหล้าแต่โชคดีที่เห็นความผิดปกติและถูกค้นพบเสียก่อน

ท้ายสุดตามมาด้วยการรัฐประหารของคมช. (คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ) นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน โดยฉวยโอกาสที่ทักษิณไปประชุมยูเอ็นที่นิวยอร์ก  หลังจากนั้นก็มีปฏิบัติการตามล้างทักษิณ เช่น การยึดทรัพย์ 3.7 หมื่นล้านบาทที่ฝากไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์  การยุบพรรคไทยรักไทย  แล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2550  แต่ทักษิณยังกลับมาได้โดยการยอมจับมือกับกลุ่มขวาจัดอย่างสมัคร สุนทรเวช และตั้งพรรคพลังประชาชนขึ้นมา แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะสมัคร สุนทรเวชถูกศาลรัฐธรรมนูญปลดออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาจัดรายการทำอาหาร “ชิมไปบ่นไป” ภายหลังพรรคถูกยุบในสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (น้องเขยทักษิณที่เข้ามารับไม้ต่อจากนายสมัคร)

การกลับมาครั้งที่ 3 ของทักษิณในนามพรรคเพื่อไทย ซึ่งชนะการเลือกตั้งในปี 2554 โดยมียิ่งลักษณ์ ชินวัตรซึ่งเป็นนายกหญิงคนแรกของไทยเป็นตัวแทน และมีนโยบายเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก โดยหันมาเน้นโครงการขนส่งมวลชน รถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ตกม้าตายจากนโยบายประกันราคาข้าวทุกเม็ดที่ถูกต่อต้านอย่างมากจากแบงก์ชาติ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ที่ขัดขวาง “การนำเงินมาแจกชาวนา” และการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง

จากนั้นก็มีการรัฐประหารโดยรสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ซึ่งพลเอกประยุทธ์ยอมรับในเวลาต่อมาว่ากองทัพแอบจับมือกับกปปส.ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ในการสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557

ในปี 2566 พรรคเพื่อไทยกลับมาสู่อำนาจครั้งใหม่โดยทิ้งนโยบายเดิมและสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ทั้งหมด หันมาเน้นนโยบายแจกเงินเป็นหลัก ซึ่งเห็นได้ชัดว่ากลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดคือกลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่นั่นเอง  ส่วนร้านค้าชุมชนหรือนายทุนน้อยที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจรัฐโดยยอมเข้าสู่ระบบ VAT จะกลายเป็นผู้เสียประโยชน์ไปโดยปริยาย

บทบาทของทักษิณในนามพรรคไทยรักไทยและเพื่อไทยจึงเปลี่ยนจากนโยบายที่ก้าวหน้ามาเป็นนโยบายล้าหลัง สะท้อนให้เห็นถึงการแกว่งตัวของอุดมการณ์ทางการเมืองของชนชั้นกระฎุมพีไทยที่นักวิชาการอย่างสุรชาติ บำรุงสุข เคยกล่าวไว้ว่า ชนชั้นกระฎุมพีไทยมีลักษณะพิเศษคือความแกว่งไกวระหว่างความต้องการความปลอดภัยจากอำนาจรัฐและความต้องการสร้างพลังการผลิตใหม่ ๆ

การลุกฮือเพื่อสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรในนามลูกจีนรักชาติคือการพยายามแสวงหาความปลอดภัยจากอำนาจรัฐไทย   และการเทคะแนนสนับสนุนพรรคก้าวไกลในเขตกทม.และทั่วประเทศก็เป็นความพยายามที่จะผลักดันพลังการผลิตใหม่ ๆ

(ยังมีต่อ)

X
Back to top button