SHEIN เดินลุยกรวดวอลล์สตรีท

ถือว่า SHEIN (ชีอิน) เป็นอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน (มูลค่ากว่า 66,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่กำลังมุ่งหน้าตรงเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ


ถือว่า SHEIN (ชีอิน) เป็นอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน (มูลค่ากว่า 66,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่กำลังมุ่งหน้าตรงเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ล่าสุดบริษัทเตรียมการยื่นแบบ Filing ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ หรือ SEC เพื่อดำเนินการขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ภายในปี 2567

มีรายงานว่า SHEIN มีการคัดเลือก โกลด์แมนแซคส์, เจพีมอร์แกน และมอร์แกน สแตนลีย์ เข้ามาเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Lead Underwriter) หุ้นไอพีโอดังกล่าว

โดย SHEIN เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2008 ที่เมืองหนานจิง (Nanjing) ด้วยการเป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce เสื้อผ้า มุ่งเน้นส่งออกชุดแต่งงานผลิตจากจีน ส่งออกไปยังประเทศโลกตะวันตก ช่วงปี 2012 ขยายธุรกิจเข้าสู่เสื้อผ้าผู้หญิง พร้อมด้วยเว็บไซต์ SheInside.com

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นช่วง 3 ปีต่อมา เมื่อผู้ก่อตั้งบริษัทที่ชื่อ Xu Yangtian (Chris Xu) ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางสู่วงการ Fast Fashion กลายเป็นเสื้อผ้าตามกระแส เจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นช่วง Gen Z ที่ไม่เน้นคุณภาพเพราะใส่เพียงไม่กี่ครั้ง ในทางกลับกัน ใช้เวลาออกแบบไม่นาน มีแบบใหม่อยู่เสมอ ช่วงเวลาเดียวกันก็เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น SHEIN พร้อมย้ายที่ตั้งบริษัทไปยังเมืองกว่างโจว (Guangzhou)

โดยบริษัทตัดสินใจจ้างดีไซเนอร์และสร้างเครือข่ายซัพพลายเออร์สินค้าขนาดใหญ่ระหว่างโรงงาน ทำให้ SHEIN สามารถจับกระแสแฟชันฝั่งตะวันตกและผลิตเสื้อผ้าพร้อมส่งออกช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน สูตรแห่งความสำเร็จนี้ทำให้ตั้งแต่ปี 2017 รายได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเดือน พ.ค. 2021 พบว่า SHEIN เป็นแอปพลิเคชันช้อปปิ้งที่มียอดดาวน์โหลดผ่าน App Store ในสหรัฐฯ แซงหน้าเบอร์หนึ่งอย่าง Amazon ไปเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ SHEIN กลายมาเป็นดาวรุ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังบริษัทได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคทั่วโลกด้วยการออกแบบที่มองไปยังแฟชั่นในอนาคต, การจัดประเภทสินค้าที่ไม่มีขอบเขตและด้วยราคาถูกที่สุด

แต่ว่า SHEIN ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ต่อเนื่องกันตลอดทาง และเผชิญกับข้อกล่าวหาของการใช้แรงงานที่ถูกบังคับในห่วงโซ่อุปทานบริษัท, การละเมิดกฎหมายแรงงาน, การทำลายสิ่งแวดล้อมและขโมยงานออกแบบจากบรรดาศิลปินอิสระ..

ล่าสุดบริษัทอยู่ภายใต้การสอบสวน โดยคณะกรรมาธิการเฉพาะกิจสภาคองเกรสต่อพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ และต้องเผชิญกับการตรวจสอบอย่างละเอียดต่อความสัมพันธ์ของบริษัทกับรัฐบาลปักกิ่ง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมาก รวมถึงอัยการสูงสุดจาก 16 รัฐ ได้เรียกร้องต่อกลต.ของสหรัฐฯ ให้รับรองว่า SHEIN ไม่ได้ใช้แรงงานที่ถูกบังคับในห่วงโซ่อุปทานบริษัท ก่อนที่บริษัทจะได้รับอนุญาตให้เริ่มซื้อขายหุ้นในตลาดสหรัฐฯ

“มาเซโล คลอเร” อดีต CEO ของซอฟต์แบงก์ (Softbank) ระบุว่า SHEIN กำลังร่วมมือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และใช้เวลาพบปะกับพวกเขาเพื่ออธิบายถึงธุรกิจ โดยระบุว่า “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าแรงงานถูกบังคับ” ในโรงงาน SHEIN ที่เขาได้ไปเยือนโรงงานดังกล่าว

ถือว่า SHEIN กลายเป็นผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรมแฟชั่น Fast-Fashion ด้วยการเอาชนะแบรนด์คู่แข่งอย่าง Zara และ Hennes & Mauritz AB ด้วยการใช้กลยุทธ์ด้านความแข็งแกร่งของ Supply-chain การออกแบบเสื้อผ้าด้วยข้อมูล (Data-driven clothing design) และอาศัยช่องโหว่ด้านภาษีของสหรัฐฯ เพื่อจำหน่ายสินค้าดังกล่าว

แต่เส้นทางสู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ..ดูเหมือนต้องเดินผ่าน “หินกรวด” บนวอลล์สตรีท..อีกหลายขุมเลยทีเดียว..!!

Back to top button