‘กัมพูชา’ ดับไฟถ่านหิน.!?

ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความต้องการไฟฟ้าของประเทศกัมพูชา เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี และเผชิญความผันผวนของกำลังผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ


ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความต้องการไฟฟ้าของประเทศกัมพูชา เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี และเผชิญความผันผวนของกำลังผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ  นั่นจึงทำให้กัมพูชามีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณกว่า 52,000 ล้านบาท) ที่อุทยานแห่งชาติบ่อธมสาคร ในจังหวัดเกาะกง มีกำหนดเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ภายในปี 2568

แต่ด้วยเงื่อนไขการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 28 (COP28) ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)

ทำให้ล่าสุด “ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศล้มเลิกแผนการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 700 เมกะวัตต์ดังกล่าว และเปลี่ยนมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งแรก ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์แทน โดยจะเริ่มดำเนินการหลังปี 2573 (ไม่มีการระบุเกี่ยวกับต้นทุนโรงไฟฟ้า)

ทั้งนี้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงมาใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ กัมพูชากำลังมีการสำรวจการก่อสร้างคลังก๊าซ LNG บนบก เพื่อนำเข้าเชื้อเพลิงและเปลี่ยนสภาพให้เป็นก๊าซเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้า โดยปัจจุบันกัมพูชายังไม่เคยนำเข้าก๊าซดังกล่าวระดับนี้มาก่อน

นั่นจึงทำให้โรงไฟฟ้าแห่งใหม่..จะทำให้ประเทศกลายเป็นตลาดนำเข้ารายใหม่ในภูมิภาค

เมื่อปี 2563 มีเพียง 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ที่นำเข้าก๊าซ LNG ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเมียนมา โดยปีนี้ เวียดนามและฟิลิปปินส์ เริ่มนำเข้าก๊าซดังกล่าวแล้วเช่นกัน

“แก้ว รัตตะนาค” รมว.กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทิศทางสู่โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ด้วยการนำเข้าก๊าซ LNG เป็นเชื้อเพลิง สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศที่ต้องการจะใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น พึ่งพาพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น พร้อมให้คำมั่นต่อหลักการอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“กัมพูชามีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งกำลังการผลิตพลังงานสะอาดจาก 52% ในปี 2565 เป็น 70% ภายในปี 2573 ด้วย การใช้พลังงานที่สะอาดและยั่งยืน เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ มากกว่าถ่านหินในปัจจุบัน”

ช่วงเดือนที่ผ่านมา กัมพูชา มีการขยายขนาดโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ควบคู่กับการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาค เพื่อจัดการกับความผันผวนของกำลังผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น

โดยไฟฟ้าจากพลังน้ำ คิดเป็นเกือบกึ่งหนึ่งของการใช้ไฟฟ้าต่อปีของประเทศ แต่ความผันผวนของปริมาณการผลิต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้การกระจายแหล่งเชื้อเพลิงสำหรับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง..!!

ด้วย “ความจำเป็น” ของกัมพูชาครั้งนี้..จะกลายเป็น “โอกาส” ของผู้ประกอบการไฟฟ้าของไทยหรือไม่.!? ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

สำคัญไปกว่านั้นด้วยแนวโน้มความต้องการก๊าซธรรมชาติของกัมพูชาที่เพิ่มขึ้น จะเป็นโอกาสเข้าสู่การ “เจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา” ตามบันทึกความเข้าใจฉบับปี 2544 (สมัยสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นรมว.ต่างประเทศ) เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานเป็นหลักทั้ง 2 ประเทศต่อไป..!?

Back to top button