เอาเปรียบรายย่อย..ด้านมืด ‘โครงการซื้อหุ้นคืน’

โครงการซื้อหุ้นคืน ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่ดี ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สามารถช่วยบริหารเงินสดที่เหลือในบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด


โครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่ดี ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สามารถช่วยบริหารเงินสดที่เหลือในบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงยังช่วยแก้ปัญหาวิกฤติศรัทธาที่เกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ในช่วงที่ราคาหุ้นของบริษัทต่ำกว่ามูลค่าความเป็นจริง

ในต่างประเทศ จะมีตัวอย่างของบริษัทที่ทำการซื้อหุ้นคืนแล้วประสบความสำเร็จ อย่าง บริษัท Apple ส่วนของไทยจะมีหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT

โดยประโยชน์ของการทำโครงการ Treasury Stock จะช่วยเพิ่มอุปสงค์ของหุ้น และอาจส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น

อีกทั้ง ยังเป็นการลดจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายในตลาด ซึ่งส่งผลให้กำไรสุทธิต่อหุ้นสูงขึ้น

แถมยังเป็นโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน หากผู้บริหารของบริษัทมั่นใจในผลการดำเนินงาน และเห็นว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของกิจการอย่างมีนัยสำคัญการซื้อหุ้นคืนและขายกลับในจังหวะเวลาที่เหมาะสมจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับส่วนของผู้ถือหุ้น

แต่หลักใหญ่ที่ควรนำมาประเมินว่าบริษัทจดทะเบียน ที่ซื้อหุ้นคืน มีความสมเหตุสมผลจริง ตามวัตถุประสงค์เดิมที่เคยมีมาหรือไม่และนักลงทุนรายย่อย สามารถนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมิน ว่าบริษัทที่ตนถือหุ้นอยู่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวหรือไม่ ดังนี้

1.ควรตรวจสอบ ภาระหนี้สินของบริษัท ว่ามีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) สูงกว่าอุตสาหกรรมหรือไม่ 

เนื่องจาก ภาระหนี้สิน กับ ต้นทุนทางการเงิน ที่อยู่ในรูปของดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน หรือ หุ้นกู้ นั้น บ่งบอกถึงเสถียรภาพ และ อนาคตของบริษัท

บริษัทที่มีหนี้สินเยอะ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องนำเงินไป “ซื้อหุ้นคืน” หรือบอกว่า “จะบริหารสภาพคล่อง” ไปเคลียร์หนี้ในบาลานซ์ชีทก่อน ไม่ควรเอาเงินสดไปซื้อหุ้นคืน เพราะต่อให้ราคาหุ้นถูกแค่ไหน หนี้ยังบานเบอะ ต้นทุนทางการเงินสูง ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่ “โครงการซื้อหุ้นคืน” จะไม่ประสบความสำเร็จในระยะยาว

2.เปรียบเทียบ การซื้อหุ้นคืน กับ อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) 

ยกตัวอย่าง หากบริษัท นำเงินสด 1 พันล้านบาท มาซื้อหุ้นคืนทำให้กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) เพิ่มขึ้น 8% ย่อมดีกว่า นำเงินสด 1 พันล้านบาท มาจ่ายปันผล 8% เพราะปันผลต้องจ่ายภาษี

ทั้งนี้ การซื้อหุ้นคืน ที่มีประสิทธิภาพ มีเงื่อนไขที่ว่า จะต้องนำหุ้นที่ซื้อมาทั้งหมดไปลดทุนจดทะเบียน หากนำมาขายคืนในกระดาน จะไม่นับว่าได้ประโยชน์จากกรณีดังกล่าว

3.เปรียบเทียบ การซื้อหุ้นคืนกับการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปขยายการลงทุน ส่วนใดจะส่งผลต่อการเพิ่มของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) มากกว่ากัน

ในช่วงที่ภาพรวมของดัชนีตลาดหุ้นยังไม่ฟื้นตัวมากเท่าไหร่ การซื้อหุ้นคืน สมมติหากถัวเฉลี่ยต้นทุนที่ซื้อมาอยู่ที่ 10 บาท อนาคตหากต้องการจะขายคืนในกระดาน ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอีก ก็จะทำให้บริษัทนั้นขาดทุน หากต้องการใช้เงินสดขยายกิจการ 

ทั้งนี้ถือเป็นความเสี่ยงมากที่บริษัทจะคาดหวัง ส่วนต่างกำไร (Capital gains) จากการขายหุ้นคืน จาก Treasury Stock ในกระดาน 

อย่างไรก็ตาม การถือเงินสด ถือเป็นเรื่องที่ดีกว่า เสี่ยงน้อยกว่า และสามารถมีโอกาส เมื่อจังหวะการลงทุนอื่น ๆ ที่ดีเข้ามา อย่างเห็นได้ชัด

เหตุผลที่ต้องใช้หลัก 3 ข้อนี้ เพราะที่ผ่านมา มีหลายบริษัทที่เปิดโครงการซื้อหุ้นคืนแล้ว ราคาหุ้นไม่ได้ตอบสนองในเชิงบวกระยะยาวแต่อย่างใด มีแต่เพียงช่วงสั้น ๆ ระหว่างที่ซื้อหุ้นคืนเท่านั้นที่ราคาหุ้นจะมี วอลุ่มและมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม โครงการซื้อหุ้นคืน มีความเสี่ยงที่อาจจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย กล่าวคือ ไปรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือพรรคพวกของคนกันเอง (นอมินี) ของบริษัทที่ประกาศซื้อหุ้นคืน

เนื่องจากจะมี Bid จำนวนมากเข้ามารองรับทันที และเป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่ช่วงที่อยู่ในระหว่างการซื้อหุ้นคืน มักจะมีแรงเทขายหุ้นออกมาแบบมหาศาล 

ในอดีตตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยจับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ที่เอาหุ้นส่วนตัวของบริษัท มาขายในช่วงประกาศ “โครงการซื้อหุ้นคืน”

ปัจจุบันยังมีวิธีการที่หนักข้อขึ้นไปอีกของบริษัท ที่ต้องการเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย  คือ ออกโครงการซื้อหุ้นคืน มาในช่วงจังหวะ ที่รู้ว่า “จะมีหุ้นของบริษัทบางส่วนถูกบังคับขาย (force sell)” จากโบรกเกอร์ หรือ คัสโตเดียน ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ เอาหุ้นไปวางเป็นหลักประกัน (ตึ้ง) เพื่อขอวงเงินไปซื้อหุ้นตัวอื่น ๆ จนไม่สามารถเติมหลักประกันเพิ่ม และต้องถูกบังคับขายออกมาในที่สุด

นี่คือ…อีกด้านมืดจากเครื่องมือทางการเงิน ที่ทางการสามารถเข้าไปตรวจสอบ หรือจับผู้กระทำผิดที่เอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย โดยใช้ผ่านโครงการซื้อหุ้นคืน ได้

จากนี้ไป การประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน อาจมีข้อสงสัยจากนักลงทุนว่าดีจริง หรือไม่ ความตื่นเต้นของนักลงทุน อาจจะหายไป หลังจากอ่านคอลัมน์นี้จบ!?

Back to top button