ดอกเบี้ย ปมต่างธปท. & รัฐบาล

ว่าด้วยเรื่องดอกเบี้ย ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทุกครั้งที่มีใครแตะหรือหยิบยกขึ้นมา ก็มักเป็นประเด็นร้อนฉ่าของสังคมได้เสมอ...


ว่าด้วยเรื่องดอกเบี้ย ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทุกครั้งที่มีใครแตะหรือหยิบยกขึ้นมา ก็มักเป็นประเด็นร้อนฉ่าของสังคมได้เสมอ…

เหมือนกรณีล่าสุดที่หัวโจกอย่าง นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ทวีตข้อความผ่าน X หรือชื่อเดิมทวิตเตอร์ ข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า “จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้ง ๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลาย ๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อยและ SME อีกด้วย”

สอดรับกับ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กรัว ๆ ว่า “ลดดอกเบี้ยให้เร็วและมากคือทางรอด” หรือจะเป็น “ธุรกิจที่การแข่งขันต่ำ รวมหัวกัน “ทำกำไรสูง” บนความวินาศของลูกค้า…ถือว่าน่ารังเกียจนัก และที่น่าตำหนิที่สุดคือ “ผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง” ที่ (ไม่) กำกับดูแล”

ผสมโรงด้วยนักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดังอย่าง “สรกล อดุลยานนท์” หรือหนุ่มเมืองจันท์ ซึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “หนุ่มเมืองจันท์” ระบุว่า “แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้าน อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น-BBL แชมป์…เห็นพาดหัวข่าวของ “ประชาชาติธุรกิจ” วันนี้แล้วอึ้งเลยครับ ผมไม่รู้ว่า “แบงก์ชาติ” จะรู้สึกตงิดอะไรในใจบ้างไหม” พร้อมสาธยายเนื้อหามายืดยาวเป็นหางว่าว ถ้าอยากรู้รายละเอียดก็ไปหาอ่านกันเองละกัน…

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ กลายเป็นฟืนชั้นดีที่โหมให้กระแสสังคมลุกโชน พร้อม ๆ กับการถามหาความรับผิดชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับสถาบันการเงิน ทั้งแบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐว่าจะออกมาแอกชันต่อเรื่องนี้ยังไง..? (ถึงตอนนี้แบงก์ชาติก็ยังสงวนท่าที…ไม่ตอบสนองใด ๆ…)

เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของแบงก์ชาติ หลังจากผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิด โดยมีการปรับขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 จากระดับ 0.50% และปรับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนทะยานสู่ระดับ 2.50% หรือปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้วทั้งหมด 8 ครั้งด้วยกัน

สิ่งที่ตามมา ทำให้ NIM หรือส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของแบงก์พาณิชย์ถ่างกว้างมากขึ้น จนแบงก์ซดกำไรอู้ฟู่กันถ้วนหน้า โดยงวด 9 เดือนแรกปี 2566 แบงก์พาณิชย์มีกำไรสุทธิรวมกันสูงถึง 181,392 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21,781 ล้านบาท หรือ 13.65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 159,611 ล้านบาท

มิน่าล่ะ ในขณะที่ชาวบ้านเดือดร้อนกันทั้งแผ่นดิน…แทบไม่มีจะกิน ภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน แต่แบงก์พาณิชย์กลับโตวันโตคืนซะงั้น…จึงไม่แคล้วกลายเป็นจำเลยสังคม..!!

ดูเหมือนว่ารัฐบาลกับแบงก์ชาติจะมองต่างมุมกันนะเนี่ย…

ก็น่าติดตามว่าเสียงก่นด่า…อุ๊ย เสียงเรียกร้องที่ดังซะขนาดนี้ จะถึงหูแบงก์ชาติหรือเปล่าน้อ..? แล้วจะแอกชันยังไง..? ซึ่งใกล้กับไทม์ไลน์ในวันที่ 7 ก.พ. 2567 นี้ ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีนัดหมายการประชุมเป็นครั้งแรกของปี 2567 เสียด้วยสิ ก็ไม่รู้ว่ากนง.จะปรับลดดอกเบี้ยหรือคงดอกเบี้ยกันแน่..? (แต่คงไม่ปรับขึ้นแล้วมั้ง..!!)

ซึ่งถ้าไปดูในฝั่งของสหรัฐฯ ล่าสุดเฟดประกาศคงดอกเบี้ย พร้อมส่งสัญญาณจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567 นี้…กนง.ก็ไม่น่าจะแหกกรอบไปจากนี้ละ (มั้ง)

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกนง.แหละ เพราะต่อให้หน้าไหน..? ออกมาเรียกร้องหรือตีโพยตีพายยังไง..? ถ้ากนง.หรือแบงก์ชาติ No สน…No แคร์ ซะอย่าง มั่นหน้ายึดตามครรลองครองธรรมที่ปฏิบัติกันมา…ใครจะทำอะไรได้…จริงมั้ย

เป็นอันจบข่าว..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button