KKP ขายรถ (ยึด) กดกำไร.!

แคมเปญ “คืนรถปลดหนี้” เคยเป็นหนึ่งในมาตรการที่บรรดากลุ่มลีสซิ่งงัดออกมาใช้เพื่อหวังช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ผ่อนค่างวดไม่ไหว ในช่วงวิกฤตโควิด


แคมเปญ “คืนรถปลดหนี้” เคยเป็นหนึ่งในมาตรการที่บรรดากลุ่มลีสซิ่งงัดออกมาใช้เพื่อหวังช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ผ่อนค่างวดไม่ไหว ในช่วงวิกฤตโควิด…ขณะเดียวกันตัวผู้ประกอบการหรือลีสซิ่งเองก็ไม่ต้องปวดกะบาลกับปัญหาหนี้เสีย หรือ NPL ที่ยืดเยื้อ…

จะเรียกว่ายอมเจ็บเพื่อจบดีกว่าปล่อยให้คาราคาซังต่อไปก็คงไม่ผิด..!?

แต่ “เจ็บแล้วดันไม่จบ” แฮะ…เพราะดูเหมือนมาตรการดังกล่าวจะกลายเป็น “ลองโควิด” ของบรรดากลุ่มลีสซิ่งไปแล้ว จนกลายเป็นตัวกดทับกำไรปี 2566 ให้ต่ำกว่าคาดไปตาม ๆ กัน เช่นเดียวกับ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ที่ล่าสุดต้องบันทึกขาดทุนก้อนใหญ่…จากการ “ขายรถยึด”..!!

ก็สอดคล้องกับแนวโน้มตลาดรถมือสองที่ราคาปรับลดลงฮวบฮาบ ว่ากันว่าตอนนี้ราคารถมือสองในตลาดตกลงต่ำกว่าช่วงโควิดอีกนะ…

มิน่าล่ะ KKP ในไตรมาส 3/2566 ว่าโดนหนักแล้ว ในไตรมาส 4/2566 หนักหน่วงไปอีก…

โดยในไตรมาส 4/2566 KKP มีผลขาดทุนจากการขายทรัพย์สินรอการอยู่ที่ 1,399 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% จากไตรมาสก่อน ซึ่งอยู่ที่ 1,344 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 117.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 644 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนจากการขายรถยึด ซึ่งอยู่ที่ 1,409 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนอยู่ที่ 1,364 ล้านบาท และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 742 ล้านบาท

ส่งผลให้ตลอดทั้งปี 2566 KKP มีผลขาดทุนจากการขายทรัพย์สินรอการขายสูงถึง 4,806 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 212.0% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีจำนวน 1,540 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นผลขาดทุนจากการขายรถยึดที่สูงปรี๊ดดด 4,871 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการขายรถยึดที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการบริหารความเสี่ยงเชิงรุกของธนาคารในการเร่งบริหารจัดการปริมาณรถยึดคงค้างอย่างต่อเนื่อง

ดูเหมือนว่า KKP พยายามเร่งเคลียร์รถยึดให้จบนะเนี่ย…ซึ่งนักลงทุนคงอยากรู้จะจบเมื่อไหร่..? ยังไม่มีใครตอบได้

แต่ไม่หมดแค่นั้น เพราะนอกจาก KKP จะขาดทุนจากการขายรถยึดแล้ว รายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่เคยทำเงินเป็นกอบเป็นกำ ก็ปรับลดลงจนน่าใจหายเหมือนกัน..สาเหตุมาจากภาวะตลาดที่ผันผวนและส่งผลกระทบต่อการลงทุน ซึ่งทำให้มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2566 ปรับลดลง 30.5% หากเทียบกับมูลค่าการซื้อขายในปี 2565 ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลง 23.5% อยู่ที่ 6,469 ล้านบาท โดยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิปรับลดลง 11.2%

อ้อ…KKP ยังยืนหนึ่งครองส่วนแบ่งตลาดในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์สูงสุด มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 20.8% (คงไม่ต้องบอกนะว่า โบรกเกอร์ค่ายนี้เค้าเด่นเค้าดังเรื่องอะไร..? ดูตาก็รู้ ๆ กันหน่า)

จาก 2 ปัจจัยหลักข้างต้น ทำให้ตัวเลขบรรทัดสุดท้ายของ KKP ออกมาเซอร์ไพรส์ในเชิงลบ โดยในไตรมาส 4/2566 มีกำไรสุทธิ 670 ล้านบาท ลดลง 53.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,430 ล้านบาท และลดลง 47.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,281 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ส่งผลให้ปิดสถานะงวดปี 2566 ด้วยตัวเลขกำไรสุทธิ 5,443 ล้านบาท ลดลง 28.4% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7,602 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการดำเนินงาน 28,763 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากปีก่อนที่ทำได้ 27,539 ล้านบาท

ทำเอานักลงทุนเซ็งเป็ดไปตาม ๆ กัน…เลยเป็นที่มาของการเทขายหุ้น KKP กันจ้าละหวั่น ส่งผลให้วานนี้ (22 ม.ค.) ราคาทรุดลงไปต่ำสุด 45.75 บาท ก่อนจะฟื้นขึ้นมาปิดตลาดที่ 46.75 บาท ปรับลดลง 2.60% ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 434.39 ล้านบาท

ดีนะเนี่ย…ที่ KKP ยังได้ชื่อว่าเป็นหุ้นปันผลงาม ล่าสุดยีลด์ปาไป 6.77%

ถ้าจะถือเพื่อกินเงินปันผล ก็ไม่ขี้เหร่นะ…ว่าป๊ะล่ะ

…อิ อิ อิ…

Back to top button