TU-CHOW โอกาสบนเทรนด์โลก

แว๊บแรกที่เห็นดีลความร่วมมือระหว่าง TU กับ CHOW ผิวเผินเหมือนไม่มีอะไร..!! เป็นแค่การเซ็นเอ็มโอยูเพื่อจับคู่ทางธุรกิจทั่ว ๆ ไป


แว๊บแรกที่เห็นดีลความร่วมมือระหว่างบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ของ “เฮียธีรพงศ์ จันศิริ” กับ บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน)หรือ CHOW ของ “เฮียอนาวิล จิรธรรมศิริ” ผิวเผินเหมือนไม่มีอะไร..!!

เป็นแค่การเซ็นเอ็มโอยูเพื่อจับคู่ทางธุรกิจทั่ว ๆ ไป…โดยสาระสำคัญว่าด้วยเรื่อง TU จะว่าจ้างให้ CHOW เป็นผู้พัฒนาและติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับคู่ค้าของ TU ทั่วประเทศ ขนาดรวมกันกว่า 30 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าประมาณ 10,000 ครัวเรือน

แต่พอถอดรหัสเข้าไป…ไม่ธรรมดาแฮะ..!! มันมีความน่าสนใจซ่อนอยู่ในดีลนี้…

ในมุม TU เรื่องช่วยคู่ค้าประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้า อาจแค่จิ๊บ ๆ ไม่ใช่สาระสำคัญ…แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ ด้วย TU เป็นหนึ่งในบริษัทด้านอาหารทะเลยักษ์ใหญ่ของโลก มีการค้าขายกับนานาประเทศทั่วโลก

แน่นอนว่าที่ผ่านมาถูกบีบให้ต้องปฏิบัติตามมาตรการการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในนั้นก็คือ มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกกันสวยหรูว่า เทรนด์การค้ารักษ์โลก เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังเป็นสิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ

สิ่งที่ตามมาคือ การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ พึงตระหนักถึงการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อช่วยลดโลกร้อน ซึ่งในยุโรปเริ่มบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 ส่วนที่สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอน (Clean Competition Act : CCA) เพื่อกำหนดราคาคาร์บอนจากสินค้าที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น ที่ผลิตในประเทศและจากการนำเข้า CBAM ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2569

กลายเป็นโจทย์ทางธุรกิจให้ TU ต้องมุ่งสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ เพื่อลดความเสียเปรียบด้านการค้า…

ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า การให้คู่ค้าของ TU ทั่วประเทศหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แทนการใช้พลังงานจากฟอสซิล ก็ถือเป็นอีกแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือกระจก ที่จะช่วยให้ TU รอดพ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้า และไปคุยโม้ในเวทีการค้าโลกได้ว่าฉันก็เป็นองค์กรรักษ์โลกนะ..!!

เคสนี้ก็ไม่ต่างจากหลาย ๆ บริษัทที่ทำก่อนหน้านี้ อาทิ กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งค้าขายกับทั่วโลก ที่ไปจับมือกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เพื่อดำเนินธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งรวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นดิน (Solar Farm)

ด้านบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ไปจับมือบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เพื่อทำการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมด 120,000 แผ่น บนหลังคาของโรงงานซีพีเอฟจำนวน 34 แห่ง ครอบคลุมโรงงานอาหารสัตว์บก โรงงานอาหารสัตว์น้ำ โรงงานแปรรูปอาหาร และโรงงานอาหารสำเร็จรูป รวมเป็นพื้นที่ราว 230,000 ตารางเมตร หรือเทียบกับโรงไฟฟ้าขนาด 40 เมกะวัตต์ เป็นต้น

ทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกัน การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ…เพื่อลดมาตรการกีดกันทางการค้านั่นเอง..!?

ก็เข้าใจแหละว่าของมันต้องมี…เป็นความจำเป็นในทางธุรกิจที่ต้องทำเพื่อเป็นเกราะในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลก..!!

ส่วนในมุม CHOW อันดับแรก…พอร์ตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ๆ ก็ 30 เมกะวัตต์ จาก ณ สิ้นปี 2566 ที่คาดอยู่ที่ระดับ 150 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกันก็ได้อัพเกรดขึ้นมาเป็นพันธมิตรกับ TU ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลก จะทำให้ภาพลักษณ์ดูดีขึ้น ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน (ละมั้ง)..!!

อ้อ…CHOW ก็จะก้าวสู่องค์กรคาร์บอนต่ำด้วยเช่นกัน

ว่าไปแล้ว การจับมือกันของทั้งคู่ ก็เป็นทั้งความจำเป็นและโอกาส (ทางธุรกิจ) บนเทรนด์การค้าโลกนะเนี่ย..!!

ถ้าไม่ใช่ก็เอาปากกามาวงได้นะ…

…อิ อิ อิ…

Back to top button