ปฐมบท..แก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง.!?

นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 67 เป็นต้นไป บรรดา “ลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง” ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น


นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 67 เป็นต้นไป บรรดา “ลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง” ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ยไปด้วย

สำหรับ “ลูกหนี้ที่เข้าข่ายเรื้อรัง” คือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนที่ไม่เป็น NPL (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และบัตรเครดิต) 

ส่วน “ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง” หรือลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือน เพื่อกระตุกพฤติกรรมให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มเติม และพิจารณาขอความช่วยเหลือให้สามารถปิดจบหนี้เร็วขึ้นได้ และลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรังคือลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมมาแล้ว 5 ปี และมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท 

สำหรับลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทกลุ่มธุรกิจทางการเงินหรือน้อยกว่า 10,000 บาท สำหรับลูกหนี้นอนแบงก์ โดยลูกหนี้จะได้รับการแจ้งเตือนและสมัครใจเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี โดยลูกหนี้ต้องปิดวงเงินสินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรการ เพื่อให้ปิดจบหนี้ภายใต้มาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าได้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ลูกหนี้ทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับการแจ้งเตือนเป็นรายบัญชี (อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง) ผ่านช่องทางที่ตกลงไว้กับเจ้าหนี้อย่างน้อย 1 ช่องทาง อาทิเช่น จดหมาย, อีเมล, เอสเอ็มเอส, Mobile Application เพื่อกระตุ้นให้จ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้นตลอดจนสมัครเข้าร่วมมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง

หากลูกหนี้ต้องการทราบสถานะของตนเอง สามารถติดต่อสาขา หรือ Call center ของผู้ให้บริการเพื่อตรวจสอบสถานะและสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังได้ 

กรณีลูกหนี้ที่เข้ามาตรการแก้หนี้ยั่งยืนแล้ว แต่ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ตามเงื่อนไขและระยะเวลาได้ที่กำหนดยังสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยธปท.จะกำกับดูแลผู้ให้บริการอย่างใกล้ชิด ติดตาม และผลักดันผู้ให้บริการปฏิบัติตามเกณฑ์ Responsible Lending อย่างจริงจัง เพื่อให้มั่นใจว่าลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือที่ทันการณ์ เหมาะสมและเป็นธรรม 

โดยช่วงเดือน มี.ค.นี้ ธปท.จะเข้าตรวจสอบปูพรมผู้ให้บริการผ่านการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เช่น สุ่มตรวจสอบการปรับโครงสร้างหนี้ว่าผู้ให้บริการได้เข้าช่วยเหลือแก้หนี้จริง รวมถึงคุณภาพของการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การให้ข้อมูลการปรับโครงสร้างหนี้อย่างครบถ้วน ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการปิดจบหนี้เรื้อรัง

ทั้งเรื่องการแจ้งเตือนลูกหนี้ ติดตามตัวเลขการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบความถูกต้องของการคิดค่าธรรมเนียม เช่น Prepayment fee ทั้งนี้หากธปท.ตรวจสอบพบประเด็นสำคัญจะสั่งการให้ผู้ให้บริการแก้ไขทันทีและพิจารณาบทลงโทษที่เหมาะสมต่อไป 

อย่างไรก็ดีหลังจากธปท.ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 67 ที่ผ่านมาถือเป็นการยกระดับการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน จากการขอความร่วมมือ เป็นกำหนดให้สถาบันการเงินต้องดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และช่วยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังให้สมารถที่จะปิดจบหนี้ได้..!!

สำหรับ “หนี้เรื้อรัง” ตามนิยามธปท.คือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่เป็นวงเงินหมุนเวียน ไม่ได้ชำระเป็นงวด แต่ยังไม่ได้เป็นหนี้เสียและจ่ายดอกเบี้ยเกินเงินต้น เป็นระยะเวลานาน แยกเป็น 2 แบบ คือ 1) เริ่มเรื้อรัง (General PD) จ่ายดอกเบี้ยเกินเงินต้นช่วง 3-5 ปีย้อนหลัง และ เรื้อรัง (Severe PD) จ่ายดอกเบี้ยเกินเงินต้น 5 ปีขึ้นไป มีเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท (กรณีลูกหนี้กลุ่มแบงก์) หรือไม่เกิน 10,000 บาท กรณีลูกหนี้นอนแบงก์)

Back to top button