MBK ‘ไดลูท’ แต่มูลค่าเพิ่ม.!

ฮือฮาท้าตลาดทุนขึ้นมาทันที..!! เมื่อสำนักข่าวบลูมเบิร์กประโคมข่าว บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของห้างสรรพสินค้าหรูใจกลางกรุงเทพฯ


ฮือฮาท้าตลาดทุนขึ้นมาทันที..!! เมื่อสำนักข่าวบลูมเบิร์กประโคมข่าว บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของห้างสรรพสินค้าหรูใจกลางกรุงเทพฯ ทั้งสยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่, สยาม พารากอน, ไอคอนสยาม, สยาม พรีเมียม เอาท์เล็ต มีพื้นที่รวมเป็นพื้นที่ค้าปลีกและไลฟ์สไตล์กว่า 2,000,000 ตารางเมตร กำลังซุ่มแต่งเนื้อแต่งตัวเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดยจะมีการระดมทุนประมาณ 500-750 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 18,000-27,000 ล้านบาท…นั่นจะทำให้ “สยามพิวรรธน์” กลายเป็นไอพีโอที่ใหญ่สุดในรอบ 2 ปี เลยทีเดียว…

แม้ข่าวนี้ยังไม่ได้รับการคอนเฟิร์มจากปากบุคคลที่เกี่ยวข้องว่า เป็นเรื่องจริงหรือแค่ข่าวโคมลอย..??

แต่…หุ้นบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของสยามพิวรรธน์ โดยถือหุ้นในสัดส่วน 49% โบยบินไปไกลแล้ว…ลองคิดดูแล้วกัน จากปกติเป็นหุ้นที่ราคานอนแช่แป้งไม่ไปไหน มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละวันแค่หลักสิบล้านบาท เผลอแป๊บเดียวมูลค่าการซื้อขายกระโดดไปเป็นหลักร้อยล้านบาทหน้าตาเฉย…

โดยเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 (วันที่มีการรายงานข่าว) หุ้น MBK ตอบรับข่าวดังกล่าว วิ่งขึ้นไปแตะที่ระดับสูงสุด 19 บาท ก่อนจะย่อตัวลงมาปิดตลาดที่ 18.20 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 2.50 บาท หรือปรับเพิ่มขึ้น 15.29% ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่อุ่นหนาฝาคั่งกว่า 590.83 ล้านบาท

ส่วนวันถัดมา (22 มี.ค. 2567) เปิดตลาดฯ มาช่วงแรก ๆ ทำท่าจะไปต่อราคาวิ่งขึ้นไปแตะที่ 19.20 บาท แต่ไปไม่รอด โดนเทขายทำกำไรออกมา ส่งผลให้ปิดตลาดที่ 17.80 บาท ปรับลดลง 0.40 บาท หรือปรับลดลง 2.20% ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 699.04 ล้านบาท

หุ้น MBK ออกอาการเริงร่าอยู่ได้ไม่กี่วัน ล่าสุดมูลค่าการซื้อขายหดหายเหลือหลักสิบล้านบาทเหมือนเดิม โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 29 มี.ค. ปิดตลาดที่ 17.80 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.56% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 17.45 ล้านบาท

เข้าใจว่านับจากนี้หุ้น MBK คงกลับบ้านเก่า…อุ๊ย วิถีเดิม ราคาไม่ไปไหน ส่วนมูลค่าการซื้อขายก็ป้วนเปี้ยนหลักสิบล้านบาทแหละ…จนกว่าจะมีสตอรี่ใหม่มาดันให้หุ้นวิ่งอีกครั้ง

แต่สิ่งที่น่าสนใจ ถ้าสยามพิวรรธน์เข้าตลาดฯ จริง (ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่..??) ในมุมของ MBK แน่นอนสัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงจากเดิมที่เคยถือ 49% หากมีการเพิ่มทุนก็จะไดลูทลง แต่ที่จะหักล้างได้เป็นมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น..!!

ทั้งในแง่ภาระผูกพัน ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ต้องลงทุนเยอะ สร้างห้างใหม่อาจต้องไปกู้แบงก์ ออกตราสารหนี้ MBK ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ต้องรับรู้ มีภาระไปด้วยเสมือนเป็นตัวกดดัน…พอสยามพิวรรธน์ได้เงินระดมทุนมา ก็นำไปชำระหนี้ ปลดเปลี้ยงหนี้ไป… MBK ก็พลอยตัวเบาไปด้วย

ที่สำคัญ เมื่อสยามพิวรรธน์มีหน้าตักเป็นเงินระดมทุนก้อนใหญ่ ซึ่งไม่มีต้นทุน เพื่อนำไปขยายธุรกิจให้เติบใหญ่ สร้างการเติบโตที่แข็งแกร่ง…ไอ้ที่เห็นผลการดำเนินงานของสยามพิวรรธน์ดีอยู่แล้ว ยกเว้นช่วงโควิดที่กำไรย่อตัวลง แต่หลังจบโควิดกลับมาโตได้อีกครั้ง ก็จะโตมากขึ้นไปอีก…

โดยปี 2562 มีรายได้รวม 3,824.40 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,195.26 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 31.25% ส่วนปี 2563 มีรายได้รวม 3,007.46 ล้านบาท กำไรสุทธิเหลือแค่ 633.78 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 21.07% ถัดมาปี 2564 มีรายได้รวมเหลือ 2,590.60 ล้านบาท กำไรสุทธิลดฮวบเหลือ 267.60 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 10.33% ขณะที่ปี 2565 มีรายได้รวมปาไป 4,113.57 ล้านบาท กำไรสุทธิแตะ 1,330.09 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 32.33%

นั่นเท่ากับว่า MBK ก็จะได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ จากการรับรู้รายได้และกำไรจากสยามพิวรรธน์ที่มากขึ้น

ไม่นับรวมกับการที่สยามพิวรรธน์อาจมีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น หลังเข้าตลาดฯ…MBK ก็จะได้ไปอีกขา…

ดังนั้น ถ้าช่างน้ำหนักดูแล้ว MBK น่าจะได้มากกว่าเสียนะ..!!

ว่าแต่เมื่อไหร่จะได้เห็นหุ้นสยามพิวรรธน์ในตลาดฯ ละเนี่ย…ป่านนี้นักลงทุนคงตั้งหน้าตั้งตารอกันแล้ว

หวังแค่ว่า ไม่ใช่มาหลอกให้อยากแล้วจากไปนะ…

…อิ อิ อิ…

Back to top button