SAK คุณภาพสินทรัพย์ดี

SAK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2566 มีกำไรสุทธิ 208.31 ล้านบาท ลดลง 0.51% จากไตรมาส 4/2565


คุณค่าบริษัท

บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK โครงสร้างพอร์ตลูกหนี้สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 4/2566 1.สินเชื่อบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 47.2% 2.สินเชื่อบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เงื่อนไขเกษตรกร 34.9% 3.สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 9.7% 4.สินเชื่อเช่าซื้อ 4.5% 5.สินเชื่อบุคคล 1.9% 6.สินเชื่อที่ดิน 1.8% โดยสินเชื่อมีหลักประกันมีสัดส่วนที่ 88.4%, สินเชื่อไม่มีหลักประกันมีสัดส่วน 11.6% ของสินเชื่อรวม รายได้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) (ปี 2563-2566) ที่ 18.6%

SAK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2566 มีกำไรสุทธิ 208.31 ล้านบาท ลดลง 0.51% จากไตรมาส 4/2565 แต่เพิ่มขึ้น 11.64% จากไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 186.59 ล้านบาท กำไรไตรมาส 4 ออกมาดีกว่าที่ตลาด (consensus) คาดไว้ 9% โดยหนุนจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่ต่ำกว่าคาด จากการปรับรูปแบบการตั้งสำรองหนี้ (ECL) รายปี และสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้ (CIR) ที่ลดลง

กำไรปกติทั้งปี 2566 อยู่ที่ 750 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ทั้งปีของบล.กสิกรไทยที่ 748 ล้านบาท ดังนั้นจึงคงประมาณการกำไรปกติตามเดิม พอร์ตสินเชื่อของ SAK เติบโต 2% จากไตรมาส 3/2566 และ 14% จากไตรมาส 4/2565 มาอยู่ที่ 1.21 หมื่นล้านบาท ขณะที่ส่วนต่างการให้สินเชื่อ (loan spread) อยู่ที่ 18.2% ลดลง 0.43% จากไตรมาส 3/2566 และลดลง 2.09% จากไตรมาส 4/2565 จากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น 0.23% จากไตรมาส 3/2566 มาที่ 5.4%

SAK รายงานคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง มี NPL ratio ที่ 2.5% ทรงตัวจากไตรมาส 3/2566 และอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ผู้บริหารตั้งไว้ เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อ 1 ใน 3 ของ SAK มาจากกลุ่มเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยจากปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคที่ผันผวน ส่วนอัตราเงินสำรองต่อหนี้สูญ (coverage ratio) ยังอยู่ที่ระดับ 100% เทียบกับ 103% ในไตรมาส 3/2566 ด้านมูลค่าทรัพย์สินรอการขายลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบไตรมาส 3/2566 จาก 21.9 ล้านบาท เป็น 20.2 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2566 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับขนาดของสินเชื่อและของคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม บล.กสิกรไทย เห็นสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมหรือ stage 2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.20% มาที่ 4.2% จาก 4% ในไตรมาส 3/2566

SAK ตั้งเป้าสินเชื่อปี 2567 เติบโต 15% จากสิ้นปี 2566 ที่ 12,380 ล้านบาท มาเป็น 14,300 ล้านบาท ในปี 2567 อัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) จะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 17.5-18% จากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) รักษาระดับไม่เกิน 2.5% ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) อยู่ที่ 1.5% สาขาใหม่ที่จะเปิดในปีนี้สูงสุด 37 สาขา จากสิ้นปี 2566 ที่ 1,029 สาขา มาเป็น 1,066 สาขา และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ในช่วง 45-46%

ผู้บริหารของ SAK คาดว่ารายได้ในปี 2567 จะได้แรงผลักดันหลักจากการเติบโตของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์จากทั้งภาคเกษตรกรรมและรถยนต์ รวมถึงสินเชื่อที่ดิน และผู้บริหารยังคาดหวังว่ารายได้อื่นจะเพิ่มขึ้นจากการสนับสนุนของธุรกิจใหม่ ได้แก่ นายหน้าประกันภัย, โซลาร์รูฟท็อป และธุรกิจให้เช่าโดรนเพื่อการเกษตร SAK ยังกล่าวอีกว่า จะประกาศผลิตภัณฑ์ใหม่ในไตรมาส 2/2567 ในรูปแบบบริษัทร่วมทุน

ข้อมูลจาก Refinitiv Consensus สำหรับ SAK ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2567 ที่ 2,790.50 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 859.50 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 6.35 บาท จาก 2 โบรกเกอร์

บล.กสิกรไทย คาดว่ากำไรปกติปี 2567 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งที 17% จากปี 2566 มาที่ 878 ล้านบาท โดยได้แรงหนุนจากคุณภาพสินทรัพย์ทีมีการจัดการทีดี SAK คาดว่า NPL และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ในปี 2567 จะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 นอกจากนี้คาดว่าปัจจัยภายในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากการอนุมัติงบประมาณการคลังปี 2567 ของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภาคครัวเรือน และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธปท.

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น SAK ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 2 เม.ย. 2567 ที่ 5.25 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 14.67 เท่า ต่ำกว่า P/E กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 18.44 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น SAK อยู่ที่ 1.89 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 1.65 เท่า

Back to top button