เหรียญอีกด้านของแบงก์ชาติ

หลักการความเป็นอิสระของแบงก์ชาตินั้นสวยหรู เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง แต่ก็น่าคิดว่า หากแบงก์ชาติใช้หลักอิสระนั้น ไปก่อความเสียหาย ใครจะมีอำนาจหยุดยั้งแบงก์ชาติได้


หลักการความเป็นอิสระของแบงก์ชาตินั้นสวยหรู เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง แต่ก็น่าคิดว่า หากแบงก์ชาติใช้หลักอิสระนั้นไปก่อความเสียหาย ใครจะมีอำนาจหยุดยั้งแบงก์ชาติได้

วิกฤติการณ์ปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง  เกิดจากความไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยแท้ ไม่แจ้งชัดว่าเกิดจากหนึ่ง.ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือสอง.ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือสาม.ธรรมาภิบาลบกพร่อง และหรืออาจจะปน ๆ เป ๆ กันไป

ส่วนวิกฤตการณ์เงินตราจนต้องยอมจำนน “ลอยตัวค่าเงินบาท” ก็เกิดจากการนำทุนสำรองเงินตราของประเทศไปต่อสู้อย่างโง่เขลาจนเงินทุนฯ แห้งขอด จากทุนสำรองฯ กว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เอาไปทุ่มซื้อแทบหมดหน้าตักเหลือเพียง 2 พันล้านเหรียญฯ เท่านั้น

ในที่สุด 4.. 40 ก็ต้องปล่อยค่าเงินลอยตัว จาก 25 บาท/ดอลลาร์ พุ่งทะยานไปกว่า 56 บาท ผ่านมา 27 ปี เงินบาทถึงค่อยแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 36-37 บาทในปัจจุบัน

วิกฤต 2 แบบ เรียกรวม ๆ กันก็คือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่ก่อเกิดความพินาศทางธุรกิจย่อยยับกันทั้งประเทศ และผู้คนต้องตกงานนับล้านครอบครัว บรรยากาศทั่วทั้งประเทศเต็มไปด้วยความเศร้าหมอง น้ำตานองหน้า ตลาดหุ้นไทยตกต่ำเหลืองเพียง 200 กว่าจุดเท่านั้นในปี 2541

แบงก์ชาติคงปฏิเสธความรับผิดชอบในวิกฤตนี้ไปไม่ได้หรอก และผู้เข้ามารับผิดชอบก็หนีไม่พ้นรัฐบาลอีกนั่นแหละ 

ซึ่งตอนนี้ แบงก์ชาติคงจะลืมเรื่องอดีตไปเสียแล้ว จึงร่วมกันประสานเสียงกองเชียร์ เชิดชูหลักการอิสระของแบงก์ชาติอย่างเต็มกำลัง

ไม่นับรวมเงินกู้ไอเอ็มเอฟ 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งชำระหนี้หมดก่อนกำหนด 1 ปีในปี 2546 แล้ว ก็ยังมีหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวนเต็ม 1.40 ล้านล้านบาท ที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้

หนี้กองทุนส่วน FIDF2 จำนวน 112,000 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูฯ รับผิดชอบไปแล้ว จึงเหลือแต่ส่วนหนี้ FIDF1 จำนวน 463,275 ล้านบาท และ FIDF3 จำนวน 675,030 ล้านบาท รวม 1,138,305 ล้านบาท หรือ 1.14 ล้านล้านบาท

รัฐบาลรับผิดชอบร่วมกันกับแบงก์ชาติ โดยแบงก์ชาติรับจ่ายหนี้ “เงินต้น” รัฐบาลรับจ่าย “ดอกเบี้ย” ก็ดูจะเหมาะสมดี ตามหลักใครก่อความเสียหายมาก ก็รับผิดชอบมากตามไป

แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น! นับแต่ปี 2541 เป็นต้นมา รัฐบาลฝ่ายเดียวเท่านั้นเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยปีละประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยหนี้เงินต้นไม่ลดลงเลย เพราะแบงก์ชาติมีผลดำเนินงานขาดทุน ตามกฎหมายไม่สามารถนำเงินไปชำระหนี้ได้

เงินที่รัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยไปฟรี ๆ 14 ปี ถ้าคิดเป็นเม็ดเงินก็ประมาณ 8.4 แสนล้านบาท จนกระทั่งปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ชื่อกิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้ออกพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งต่อมา ตราเป็นพระราชบัญญัติ

สาระสำคัญคือเปลี่ยนเงินที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ ในอัตรา 0.46% ของยอดเงินฝาก มาชำระหนี้เงินต้นแทน โดยรัฐบาลไม่ต้องตั้งงบประมาณจ่ายดอกเบี้ยฟรีปีละ 6 หมื่นล้านบาทอีกต่อไปแล้ว

จากยอดหนี้เงินต้นรวม FIDF1+FIDF3 ที่กองทุนฯ รับมาดำเนินการ 1,138,305 ล้านล้านบาท ณ ม.ค. 2555 ปัจจุบัน ณ เม.ย. 67 คงเหลือยอดหนี้เงินต้นคงค้างอยู่ 590,869 ล้านบาท

ถ้ารัฐบาลยุคนั้นไม่เข้าไปช่วยผ่าทางตันยอดหนี้ท่วมหัว 1.1 ล้านล้านบาท อันเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของธปท.จนเหลือยอดหนี้คงค้างแค่ 5.9 แสนล้านบาท ผู้ว่าฯ ธปท.จะมีหน้ามาเบ่งกล้ามเป็น “รัฐอิสระ” เช่นทุกวันนี้หรือ

ฝ่ายรัฐบาลควรเลิกใช้ท่าทีข่มขู่บ้างก็จะดี ยิ่งส่งขุนพลตัวเล็กตัวน้อยออกมาบริภาษแบงก์ชาติผิด ๆ ถูก ๆ ยิ่งดูไม่เหมาะงาม บางคนเลยเถิดไปถึงการลดดอกเบี้ย จะส่งผลให้หนี้สาธารณะลดลง นี่ก็ขายขี้เท่อเปล่า ๆ

แต่ฝ่ายแบงก์ชาติก็ต้องฟังรัฐบาลบ้าง เพราะเขาต้องรับผิดชอบต่อสภาและประชาชน ส่วนแบงก์ชาติไม่ต้องรับผิดชอบกับใครเลย แถมยังตีความไขว้เขวระหว่างความเป็นอิสระกับรัฐอิสระ

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button