ต้อนรับประธานตลท.คนที่ 19

ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนใหม่ ไม่ใช่คนอื่นคนไกลอะไรเลยในแวดวงตลาดทุน


ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนใหม่ ไม่ใช่คนอื่นคนไกลอะไรเลยในแวดวงตลาดทุน

ในฐานะของทนายหุ้นส่วนใหญ่บริษัทกฎหมายเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี (ประเทศไทย) อาจารย์กิ๊ดหรือคุณกิ๊ด ย่อมเข้าไปเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นับร้อย ทั้งการเป็นที่ปรึกษาการทำสัญญานิติกรรมต่าง ๆ การวางแผนภาษี หรือการทำดีลพิเศษต่าง ๆ เช่นธุรกรรม M&A ฯลฯ

ฉะนั้นศาสตราจารย์กิ๊ดมิใช่คนอื่นคนไกลในแวดวงตลาดทุนแน่นอน! ก่อนจะมาเป็นประธานคนใหม่ ก็ยังนั่งเป็นบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ด้วย

แต่ภารกิจของประธานตลท.คนที่ 19 ครั้งนี้ ไม่ง่ายนัก เพราะ Eco System หรือ ระบบนิเวศทางธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ในประการที่ 1 คือ ในรอบ 5 ปีมานี้ (62-66) ดัชนีหุ้นไทยตกต่ำลงมาอย่างมาก ดัชนีปิดสิ้นปีที่ 1,579, 1,449, 1,657, 1,668 และ 1,415 จุดตามลำดับ  4 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-เม.ย.) ดัชนีอยู่ที่ 1,367 จุดและขณะนี้ก็ตกต่ำกว่าระดับสิ้นปีอยู่ประมาณ 3%

ยังไม่มีการพิสูจน์ทราบว่า เกิดจากปัจจัยสาเหตุอะไร เกิดจากปัจจัยการบริหารงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง หรือปัจจัยภายนอกจากการเมือง นโยบายสาธารณะ หรือปัจจัยต่างประเทศ

ในประการที่ 2 ก็คือ สภาพคล่องการซื้อขายก็ตกต่ำลงมากมายเช่นกัน ในรอบ 5 ปี (62-66) มูลค่าซื้อขายเฉลี่ย/วัน 52,467/67,334/88,443/71,226 และ 51,082 ล้านบาทตามลำดับ และปัจจุบัน 3 เดือนปี 67 (ม.ค.-มี.ค.) เฉลี่ย 43,466 ล้านบาท

ยังไม่มีการพิสูจน์ทราบว่าเกิดจากเหตุปัจจัยภายในหรือภายนอก เช่นเดียวกับในประการที่ 1

ในประการที่ 3 ก็คือ ตลาดถูกครอบงำโดยนักลงทุนระยะสั้นมากจากโปรแกรม เทรดดิ้งหรือโรบอทถึง 40% พวกนี้ ซื้อขายกันช่อง-สองช่องก็เผ่นแล้ว SET Index จึงเดินหน้าไปไหนไม่ได้สักที นักลงทุนรายย่อยที่เคยเป็นขาประจำของตลาดในระดับ 50-60% จึงยอมโบกมือลาตลาด

พราะจะซื้อก็ไม่ทันหุ่นยนต์ ส่วนจะขายก็ไม่ทันหุ่นยนต์อีก จำต้องโบกมืออำลาเพราะแพ้หุ่นยนต์

ในประการที่ 4 ก็คือ การบริหารจัดการที่ไม่ทันสถานการณ์ของผู้บริหารตลาด หรือจะเรียกแบบบ้าน ๆ ว่าล่าช้า อืดอาดในการแก้ไขสถานการณ์ก็ว่าได้

อย่างเช่น ปัญหาโรบอทเทรดดิ้ง ที่หุ่นยนต์ครอบงำตลาดเป็นแรมปี จนนักลงทุนเบื่อหน่ายหนีออกจากตลาด เพราะสู้เท่าไหร่ก็พ่ายแพ้หุ่นยนต์ นอกจากนี้ยังอาจจะมีหุ่นยนต์แอบถล่มชอร์ตเซล โดยตลาดฯ หรือ ก.ล.ต.ไม่อาจจะจับมือใครดมได้อีกด้วย

ตลท.เพิ่งตื่น จนบัดนี้แล้วก็ยังอยู่ในขั้นรับฟังความคิดเห็น ประมาณการว่าต้องรอไปถึงไตรมาส 4 ปีนี้ถึงจะประกาศมาตรการยกระดับการกำกับดูแลได้

ในประการที่ 5 ก็คือวิกฤตศรัทธาของตลาดหลักทรัพย์ฯ เอง จากกรณีหุ้น MORE ปล้นบริษัทหลักทรัพย์ และกรณีหุ้น STARK ที่แหกตาหน่วยกำกับดูแลตลาดทุนและนักลงทุนตั้งแต่ “เดย์วัน” ยันวันฝีหนองแตกออกมาเอง วิกฤตยังลามไปถึงตลาดตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ ที่ศรัทธามหาชนเริ่มคลอนแคลน

และในประการที่ 6 ผมรู้สึกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีกลไกอะไรปกป้องตนเองเอาเสียเลย มีหุ้นจำนวนมาก “แลกการ์ด” หรือราคาต่ำกว่ามูลค่าแท้จริงจำนวนมาก แต่ต้องตกเป็นเหยื่อกระแสความตกต่ำของ

ตลาดโดยไม่เป็นธรรม

ตลาดหุ้นจีน พอหุ้นตกก็มีกองทุนเข้ามาซื้อหุ้นประเภทดีเฟนซีฟทั้งหลาย ตลาดหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ในยามตลาดตกต่ำทางการก็พยายามเข้าไปขอความร่วมมือให้บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ จ่ายเงินปันผลมากขึ้น

แล้วตลาดหุ้นไทยล่ะ! จะสร้างกลไกอะไรมาปกป้องตลาดของตนเองยามเจอกระแสตกต่ำเช่น เจียดเงินส่วนหนึ่งมาตั้ง กองทุนรักษาเสถียรภาพได้บ้างไหม เป็นต้น

ฝากข้อคิด 6 ประการมายังคุณกิ๊ด ประธานตลท.คนที่ 19 ด้วยความเคารพและนับถือยิ่งครับ

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button