พาราสาวะถี

บ้านเมืองที่มีการปู้ยี่ปู้ยำระบบกลไกการบริหารประเทศผ่านปลายกระบอกปืน ไม่เพียงแค่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยบิดเบี้ยว หรือการวางกับดักทำให้รัฐบาลที่มารับไม้ต่อจากอำนาจเผด็จการต้องตามล้างตามเช็ด


บ้านเมืองที่มีการปู้ยี่ปู้ยำระบบกลไกการบริหารประเทศผ่านปลายกระบอกปืน ไม่เพียงแค่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยบิดเบี้ยว หรือการวางกับดักทำให้รัฐบาลที่มารับไม้ต่อจากอำนาจเผด็จการต้องตามล้างตามเช็ดเท่านั้น มันยังหมายถึงความมั่นคง เสถียรภาพที่ถูกสั่นคลอนด้วยขบวนการนิติสงครามอีกด้วย ก้าวเข้าสู่อำนาจกว่า 2 ปี เกินครึ่งทางหลังจากการเลือกตั้งแล้ว ยังไม่มีใครกล้าการันตีว่ารัฐบาลพลิกขั้วจะยืนระยะอยู่ได้ครบเทอมหรือไม่

มาถึงตรงนี้คงต้องไปว่ากันทีละเปลาะ เอาเฉพาะแค่ แพทองธาร ชินวัตร ก้าวเข้ามารับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของประเทศไทย มีหลายเหตุการณ์ที่ท้าทาย ทำให้ถูกจับตาว่าไม่น่าจะรอดสันดอน โดยเฉพาะปมเพื่อไทยถูกร้องให้ยุบพรรคก่อนหน้า แต่ก็ผ่านมาได้ ตอนนี้ก็มีปมชั้น 14 ที่ว่ากันว่าอาจจะทำให้รัฐบาลไปต่อไม่ไหว ควบคู่ไปกับการที่ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ จากคดีฮั้วเลือกสว.

หากมีคำวินิจฉัยตามคำร้องมีอันต้องพ้นจากเก้าอี้ นาทีนั้นก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น ต้องรอดูการทำคดีในส่วนของกกต.ที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนส่วนกลาง คณะที่ 26 ที่มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอร่วมทำงานด้วยจะมีบทสรุปออกมาแบบไหน ถ้ามีการชี้มูลความผิดแล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง ย่อมอาจส่งผลดีต่อคดีที่รัฐมนตรียุติธรรมตกเป็นผู้ถูกร้องได้ ลุ้นพลิกคว่ำพลิกหงายกันตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกมองว่าการลุยคดีฮั้วเลือกสว.อาจจะทำให้สัมพันธ์ระหว่างสองพรรคแกนนำสำคัญมีปัญหา ถ้าเป็นการเดินหน้าโดยใช้กลไกของดีเอสไอเพียงอย่างเดียวน่าจะทำให้เกิดภาพตามมาเช่นนั้นได้ เมื่อทุกอย่างเป็นเรื่องของกกต. จึงช่วยผ่อนคลายความไม่พอใจของฝ่ายที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับสว.กลุ่มใหญ่ลงไปในระดับหนึ่ง ด้วยความที่เป็นรัฐบาลพลิกขั้ว มีพันธสัญญาจากดีลพิเศษที่ยากจะทำให้ขัดคอกันจนกลายเป็นความแตกแยกไปได้

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจำนวนไม่น้อยจะมองเพื่อไทยกับภูมิใจไทยกำลังเล่นละครแนวซาดิสต์ ตบจูบกันอยู่ ภาพภายนอกดูเหมือนสส.และแกนนำที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารของสองพรรคจะห้ำหั่นกันเป็นระยะ ผิดกับภาพของระดับนำที่แท้จริง มีการกระชุ่นกระชับความสัมพันธ์ หารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นประจำ ด้านหนึ่งอาจเป็นเรื่องการคุยกันถึงผลประโยชน์ที่ลงตัวทั้งสองฝ่าย อีกด้านเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันบริหารความเสี่ยงที่เผชิญเพื่อให้ทุกอย่างราบรื่น เรียบร้อย พร้อมไปสู่เป้าหมายทางการเมืองในระยะต่อไป

โจทย์ร่วมต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ได้รับมาเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการแลนด์สไลด์ จนส่งผลให้ฝ่ายสุดโต่งสามารถเข้าไปกุมอำนาจบริหารได้ เป็นความท้าทายที่รัฐบาลผสมหรืออาจจะพูดได้ว่าแค่ ทักษิณ ชินวัตร กับ อนุทิน ชาญวีรกูล จะร่วมกันหรือแยกกันไปบริหารจัดการยังไงก็ได้ ถ้าดูความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองที่ขยับกันอยู่เวลานี้ น่าจะเห็นว่าเป็นฝ่ายนายใหญ่ที่ใช้มือทำงานคนสำคัญขยับอยู่ฝ่ายเดียวในลักษณะยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว

การดูดทั้งสส.และแกนนำพรรคฝ่ายตรงข้ามเข้าร่วมก๊วนพรรคกล้าธรรมของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ได้เป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในอนาคตเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการระดมพลเพื่อระวังหลังให้กับรัฐบาลแพทองธาร กรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจากความไม่พอใจของพรรคอันดับสองในรัฐบาล อย่างน้อยก็ยังมั่นใจได้ว่า รัฐนาวาของแพทองธารยังสามารถกุมเสียงข้างมากในสภาอยู่บริหารประเทศต่อไปจนครบวาระได้

ภาพความเป็นปึกแผ่นของรัฐบาลจะถูกฉายได้ชัดมากขึ้น ผ่านการประชุมสภาสมัยวิสามัญที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 พฤษภาคมนี้ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวจะมีการคว่ำร่างกฎหมายสำคัญฉบับนี้ หรือมีการส่งข้อมูลลับให้ฝ่ายค้านเพื่อเชือดรัฐบาลจนไปต่อไม่ได้ เชื่อได้ว่าเป็นการปล่อยข่าวเพื่อหวังผลทางการเมืองทั้งสิ้น ความจริงก็คือนี่ฤดูกาลที่บรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายเฝ้ารอเพื่อที่จะได้แสดงบทบาท สร้างโอกาสในการต่อรองชนิดเป็นกอบเป็นกำ

การประชุมวิป 3 ฝ่ายคือ ตัวแทนจากคณะรัฐมนตรีที่มี มนพร เจริญศรี เป็นผู้ร่วมประชุม กับวิปรัฐบาลซึ่ง วิสุทธิ์ ไชยณรุณ เป็นประธาน และ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานวิปฝ่ายค้าน ที่ได้บทสรุปเรื่องกรอบเวลาอภิปราย บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น เหมือนเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่า การพิจารณาในวาระแรกไม่น่ามีปัญหา สามารถผ่านฉลุย ที่พรรคประชาชนประกาศปาว ๆ จะถลกความไม่ชอบมาพากล พร้อมขันอาสาจะช่วยหางบประมาณให้รัฐบาลไปกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น มันก็แค่แอ็กชันทางการเมืองธรรมดา

มีการมองข้ามช็อตไปถึงการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้กันแล้ว ซีกรัฐบาลไม่มีปัญหา ทุกอย่างว่ากันตามสัดส่วนที่แต่ละพรรคจะได้รับแล้วไปจัดสรรกันเอง จะมีก็แต่ฝ่ายค้านที่ต้องตรวจทานกันมากหน่อย พรรคไหนเหลือสส.เท่าไหร่ ควรจะได้รับเก้าอี้ตามสัดส่วนหรือไม่ ตรงนี้สำคัญ เพราะการได้เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ มันคือจังหวะที่จะได้เจรจาเพื่อขอจัดสรรงบประมาณอันจะเกิดประโยชน์ต่อตัวผู้แทนรายนั้นทั้งโดยตรงและทางอ้อม

อีกประเด็นที่จะพลาดไม่ได้หลังจากร่างกฎหมายงบประมาณผ่านวาระรับหลักการของสภาไปแล้ว จะตีคู่มากับข่าวการปรับครม. ถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าแพทองธารไม่อยากแตะ แต่พ่อนายกฯ คงจะไม่ยอมตามใจลูกสาวอีกแล้ว จะมีการขยับเพื่อเติมบางคนเข้าไปทำงานให้รัฐบาลสร้างผลงานเป็นที่ปรากฏให้ได้ อีกด้านคือการส่งคนขึ้นชั้นเพื่อขับเคลื่อนสู่สนามเลือกตั้งครั้งใหม่ อาจดูเวลายังเหลืออีกนาน ทางการเมืองเรื่องที่จะหวังผลต้องทำกันแต่เนิ่น ๆ เงื้อง่าราคาแพงขยับเอาช่วงใกล้หมดวาระมันจะไม่ทันการณ์ ดีไม่ดีจะถูกฝ่ายไม่หวังดีหาช่องเล่นงานเอาผิดเข้าไปอีก

อรชุน

Back to top button