‘เวียดนาม’ ตีรวนค่าไฟทดแทน.!?

ช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนาม ประกาศใช้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (ปี 2564-2573) ฉบับใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ Net zero Carbon


ช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนาม ประกาศใช้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (ปี 2564-2573) ฉบับใหม่ ภายใต้วิสัยทัศน์ Net zero Carbon ปี 2593 ด้วยการเพิ่มกำลังผลิตเป็น 150,489 เมกะวัตต์ ในปี 2573 ประกอบด้วย พลังงานน้ำ 29,346 เมกะวัตต์, ถ่านหิน 30,127 เมกะวัตต์, ก๊าซธรรมชาติในประเทศ 14,930 เมกะวัตต์, LNG-to-Power 22,400 เมกะวัตต์, พลังงานลมชายฝั่ง 21,800 เมกะวัตต์, พลังงานลมนอกชายฝั่ง 6,000 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์ 20,591 เมกะวัตต์, พลังงานขยะ 2,270 เมกะวัตต์, พลังงานไฟฟ้าร่วม 2,700 เมกะวัตต์ และอื่น ๆ 325 เมกะวัตต์

ไฮไลต์อยู่ที่สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50% ขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมีเพียง 25%

“กลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ของบรรดาผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนไทย” ทันที

แต่ล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยปรับอัตรา Feed-in Tariff (FiT) ใหม่ ที่มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปแล้ว จากเดิมเฉลี่ยอยู่ 9.35 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 7 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง

กล่าวคือ..โครงการโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบอยู่ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเวียดนาม (ฉบับที่ 7) มีการกำหนดอัตรารับซื้อจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 9.35 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง, โครงการพลังงานลมในทะเล 9.85 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และโครงการพลังงานลมบนบก 8.50 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

ทั้งนี้รัฐบาลเวียดนาม ต้องการลดภาระอัตรารับซื้อไฟฟ้าด้วยการปรับอัตราค่าไฟใหม่ เริ่มจากโครงการที่จ่ายไฟ (COD) ก่อนวันที่ 30 มิ.ย. 62 จะได้อัตราเดิม แต่โครงการโซลาร์ฟาร์มที่จ่ายไฟ (COD) ภายในวันที่ 30 ธ.ค. 65 อัตราค่าไฟจะลดลงเหลือ 7.09 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่จะได้ค่าไฟอัตราเดิม ต้องจ่ายไฟ (COD) ภายในวันที่ 30 พ.ย. 64 แต่หาก COD หลังจากนั้นจะได้อัตราค่าไฟ 6.35-7.26 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง มีการประเมินว่าอัตราผลตอบแทนโครงการ (IRR) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นหมายถึง…พลังงานแสงอาทิตย์ IRR ลดลง 5% พลังงานลม IRR ลดลง 8%

น่าวิเคราะห์มูลเหตุสำคัญอะไร ที่ทำให้เวียดนามเกิด “อาการงอแง” ถึงขั้นแหกสัญญาปรับลดราคาซื้อไฟฟ้า ทั้งที่สัญญาขายไฟกำหนดราคาไว้ชัดเจนและดำเนินการจ่ายไฟกันไปแล้ว..!!

อาการตีรวนของเวียดนามครั้งนี้ ดูมันไปประจวบเหมาะกับความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ ที่สปป.ลาว 1 แห่ง นั่นคือ..“โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมมอนซูน” กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ที่มีกำหนดทยอยจ่ายไฟเข้าระบบภายในปีนี้ (เร็วกว่ากำหนด 6 เดือน)

โครงการนี้..สปป.ลาว มีการเซ็นสัญญาขายไฟฟ้าให้กับประเทศเวียดนาม..!!

นี่ยังไม่รวมโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ที่รัฐบาลเวียดนาม ผูกปิ่นโตซื้อรับไฟฟ้าจากสปป.ลาว อีกมากโขเลยทีเดียว

แหละ..เมื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าพลังงานทดแทน ผูกเสี่ยวกันไว้แนบแน่นเยี่ยงนี้..!!

จึงเป็นเหตุให้ “เวียดนาม” ออกลูกตีรวนได้ถึงขนาดนี้ใช่หรือไม่..!!??

เล็กเซียวหงส์

Back to top button