BANPU แสวงหารีนิว.!

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเทรนด์การค้าโลกยุคใหม่ ที่ภาคธุรกิจต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะบริษัทที่ world wide ค้าขายกับต่างประเทศ


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะโลกร้อนเป็นเทรนด์การค้าโลกยุคใหม่ ที่ภาคธุรกิจต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะบริษัทที่ world wide ค้าขายกับต่างประเทศ ไม่เช่นนั้นก็จะถูกกฎเกณฑ์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้นกดดัน เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ในยุโรป เป็นต้น

แน่นอนว่า บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ที่โตมาจากธุรกิจถ่านหินและเคยถูกตราหน้าว่าเป็นธุรกิจมอมแมม เพราะภาพจำถ่านหินเป็นพลังงานสกปรก ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมด้วยเช่น กัน

ทำให้ที่ผ่านมา BANPU พยายามแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อหวังชะล้างคราบเขม่าของถ่านหิน ด้วยการขยับไปลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยมีบริษัทลูก บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เป็นหัวหอก ซึ่งมีทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ

แต่มิวายยังถูกตั้งคำถามเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ดี..?? เนื่องจากสัดส่วนรายได้จากพลังงานสะอาด ยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับรายได้จากธุรกิจถ่านหิน ทำให้ BANPU ต้องเร่งขยายพอร์ตพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ล่าสุดขยับไปลงทุนธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ที่ประเทศออสเตรเลีย

โดยส่งบริษัทลูกที่ชื่อบริษัท Banpu Energy Australia Pty Limited (BEN) ลงทุนในโครงการ Wooreen สัดส่วน 50% ซึ่งเป็นโครงการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ณ ภูมิภาคลาโทรบวัลเลย์ (Latrobe Valley) รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย มีขนาดกําลังผลิตติดตั้ง 350 เมกะวัตต์ และความจุพลังงานไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ชั่วโมง ที่สามารถจ่ายไฟสู่บ้านเรือนได้ถึง 230,000 หลังต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ชั่วโมงในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง

มูลค่าการลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นของ BEN อยู่ที่ประมาณ 110 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (เทียบเท่าประมาณ 2,374 ล้านบาท) จากมูลค่ารวมประมาณ 700 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (เทียบเท่าประมาณ 15,105 ล้านบาท) คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์และรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2570 โดยมี Energy Australia Pty Ltd. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 10 ปี 

ว่าไปแล้วออสเตรเลียก็ไม่ไกล้ไม่ไกลสำหรับ BANPU นะ เป็นประเทศที่ทำมาหากินอยู่แล้ว (BANPU มีเหมืองถ่านหินในออสเตรเลีย) ก็น่าจะใช้ประโยชน์จากตรงนั้นได้เยอะ

แล้วถ้าไปดูโอกาสของธุรกิจนี้ ก็น่าสนใจ มีข้อมูลระบุว่าตลาดระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ระดับโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 เป็น 4.93 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2575 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 24.7% เลยทีเดียว

มิน่าล่ะ…ช่วงนี้เริ่มเห็นบริษัทคนไทยพยายามไขว่คว้าโอกาสนี้…ขยับไปลงทุนในระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่กันมากขึ้น ล่าสุดเป็นบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ที่เข้าลงทุนระบบกักเก็บพลังงานในประเทศอิตาลี 

กลับมาที่ BANPU การลงทุนระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ในครั้งนี้ ยังจะช่วยให้บรรลุแผนด้านการลดคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจได้ 20% ภายในปี 2573 พร้อมบรรลุ Net Zero ในปี 2593 ได้เร็วขึ้นด้วยนะ

เรียกว่าช่วยตีตราให้ BANPU ดูสะอาดหมดจดขึ้น ขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสใหม่ด้วยเช่นกัน…

ว่าแต่ในมุมธุรกิจมีการขยับต่อเนื่อง…แล้วเมื่อไหร่ในมุมของราคาหุ้นจะขยับขึ้นบ้างล่ะเนี่ย..?? 

เห็นมีแต่จะสาละวันเตี้ยลง จากช่วงต้นปีราคาหุ้นอยู่ที่ 5 บาทปลาย ๆ มาวันนี้เหลือ 4 บาทแล้ว ดีไม่ดีจะหลุดแนวรับที่ 4 บาทอยู่รอมร่อ…ทำเอานักลงทุนฝันหนีดีฝ่อกันหมดแล้ว โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย 106,062 ราย…พอดูออกแหละ

ฝากเป็นการบ้านให้ “สินนท์ ว่องกุศลกิจ” ในฐานะแม่ทัพใหญ่ช่วยกู้วิกฤตศรัทธาราคาหุ้น BANPU ด้วยนะเจ้าคะ…

ไม่อยากเห็นหุ้น BANPU มอมแมมไปกว่านี้..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button