
หลังม่านเจรจาภาษีทรัมป์
วันที่ 7 ก.ค. 68 (ตามเวลาท้องถิ่น) “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการส่งจดหมายแจ้งต่อ 14 ประเทศแรก เกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 68
วันที่ 7 ก.ค. 68 (ตามเวลาท้องถิ่น) “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการส่งจดหมายแจ้งต่อ 14 ประเทศแรก เกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 68 รวมถึง “ประเทศไทย” ด้วยอัตราภาษี 36%
แต่เบื้องหลังก่อนจะมาถึงวันดังกล่าว หลายประเทศฝั่งเอเชีย มีการ “เจรจาข้อตกลงการค้าใหม่กับสหรัฐฯ” โดยมีเนื้อหาแก่นสารข้อแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันไป
เริ่มจาก “จีน” ตกลงระงับการเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ส่งผลให้อัตราภาษีปัจจุบันเหลือ 10% (ไม่รวมภาษีเพิ่มเติมจากกรณีเฟนทานิล) จนถึงวันที่ 12 ส.ค. 68 และชะลอการขึ้นภาษีเพิ่มเติมระหว่างกันกับสหรัฐฯ ขณะเดียวกันจีนและสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงให้จีน อนุมัติการส่งออกแร่หายากและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ส่วนสหรัฐฯ จะยกเลิกมาตรการควบคุมบางประการที่เคยใช้กับจีน เช่น การจำกัดซอฟต์แวร์ออกแบบชิป
“อินเดีย” เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 68 “ไพยุช โกยาล” รัฐมนตรีพาณิชย์อินเดีย ระว่า อินเดียจะไม่เร่งรีบเจรจาการค้าตามกรอบเวลา โดยจะลงนามข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ เมื่อรายละเอียดทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์ และสอดคล้องกับประโยชน์ของประเทศ เท่านั้น ปมปัญหาหลักอยู่ที่ “การเปิดตลาดสินค้าเกษตร”
“อินโดนีเซีย” ทางการอินโดนีเซีย ระบุว่า สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) วันที่ 7 ก.ค. 68 เกี่ยวกับแผนการลงทุนและการจัดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ
“ญี่ปุ่น” การเจรจายังคงดำเนินต่อไปโดยประเด็นสำคัญที่ตกลงกันไม่ได้ คือ การยกเลิกหรือลดภาษีนำเข้าสินค้ารถยนต์ และการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของญี่ปุ่น นอกจากนี้คาดว่าการเลือกตั้งวุฒิสภาของญี่ปุ่นวันที่ 20 ก.ค. 68 จะยิ่งทำให้การเจรจาเกิดซับซ้อนขึ้น
“เกาหลีใต้” เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 68 รัฐมนตรีการค้าเกาหลีใต้ ได้ขอขยายระยะเวลาการชะลอขึ้นภาษี เพื่อเปิดโอกาสในการเจรจาต่อ โดยหัวข้อสำคัญยังคงอยู่ที่การยกเลิก หรือ ลดภาษีรถยนต์และเหล็กกล้า
“มาเลเซีย” ทางการมาเลเซีย ระบุว่า สหรัฐฯ ต้องการบรรลุข้อตกลง ก่อนวันที่ 9 ก.ค. 68 หลังจากเจรจามาแล้ว 2 รอบ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมเปิดเผยออกมา..
“ไต้หวัน” มีเป้าหมายเจรจาข้อตกลงลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ตามแบบความตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (United States-Mexico-Canada Agreement: USMCA) และเสนอเพิ่มการซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ อีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในเวลา 10 ปี รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ
“ไทย” เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 68 ได้ยื่นข้อเสนอใหม่แก่สหรัฐฯ โดยเล็งไปที่อัตราภาษี 10% (กรณีดีที่สุด) โดยเสนอจะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่าง 2 ประเทศและลดการเกินดุลการค้าของไทยต่อสหรัฐฯ ลง 70% ภายใน 5 ปีและลดเหลือศูนย์ภาย ใน 7-8 ปี (ปัจจุบันเกินดุลการค้าสหรัฐฯ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
“เวียดนาม” สหรัฐฯ และเวียดนามบรรลุข้อตกลงหลักการแล้ว โดยจะกำหนดอัตราภาษีสินค้าส่งออกจากเวียดนามที่ 20% (จากภาษีตอบโต้เดิม 46%) ทั้งนี้สำหรับการขนส่งสินค้าแบบสวมสิทธิ์จะถูกเก็บภาษีอัตรา 40% โดยเวียดนามจะยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ทั้งหมด
กลับมาที่ “ประเทศไทย” หากเทียบเคียงภาษีศุลกากรตอบโต้ 36% จะบังเกิดความเสียหายต่อการส่งออกไทย ระดับ 800,000-900,000 ล้านบาท..เลยทีเดียว..!!