หวั่นยอด ‘หุ้นกู้ผิดนัด-ยืดหนี้’ พุ่ง ภาษีทรัมป์-เศรษฐกิจชะลอซ้ำเติม

ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีความเป็นห่วงว่าภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยจะชะลอตัวมากกว่าครึ่งปีแรก จากผลกระทบของมาตรการจัดเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าสหรัฐฯ


เส้นทางนักลงทุน

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 นี้ มีความเป็นห่วงว่าภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวมากกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากผลกระทบของมาตรการจัดเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าของสหรัฐฯ, ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการลดลงของยอดขายของภาคอสังหาริมทรัพย์ จะนำมาสู่ปัญหา “หุ้นกู้ขอยืดชำระหนี้” ในปีนี้อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2567

โดยความเป็นห่วงนี้สะท้อนผ่านมุมมองของ “อริยา ติรณะประกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ที่ระบุว่า

“หุ้นกู้ขอยืดชำระหนี้ในปีนี้อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน จากครึ่งปีแรกของปี 2568 มีหุ้นกู้ขอยืดชำระหนี้ 14 ราย ในจำนวนนี้เพิ่งขอเลื่อนชำระหนี้ครั้งแรกถึง 11 ราย แต่ครึ่งปีหลังจะมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งการเจรจาภาษีทรัมป์ ความผันผวนในตลาด การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ที่จะส่งผลผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งปี 2567 มีผู้ออกขอยืดชำระหนี้หุ้นกู้ อยู่ที่ 17 ราย

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การยืดหนี้แล้วผู้ถือหุ้นกู้ยอมอนุมัติ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นกู้ในระยะยาว หากมีแผนชำระหนี้ที่สามารถทยอยคืนเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มได้ เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ธุรกิจกลับมาได้ ยังดีมากกว่าปล่อยให้หุ้นกู้ผิดนัดชำระ”

ครึ่งแรกของปี 2568 ที่ผ่านมา หุ้นกู้ผิดนัดชำระมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,337 ล้านบาท จากผู้ออก 4 ราย โดยในเดือนมิถุนายน  มี 2 รายใหม่ GRAND (BB) จำนวน 1 รุ่น 300 ล้านบาท และ CV (NR) 1 รุ่น 131.4 ล้านบาท จากในปี 2567 มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระจากผู้ออก 5 ราย มูลค่ารวม 3,172 ล้านบาท และ ปี 2566 มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระจากผู้ออก 5 ราย มูลค่ารวม 16,363 ล้านบาท

ขณะที่มีหุ้นกู้ที่เลื่อนกำหนดชำระ รวมทั้งสิ้น 17,540 ล้านบาทจากผู้ออก 14 ราย ในเดือน มิ.ย.มี 2 รายใหม่ EA (BB) 2 รุ่น 2,400 ล้านบาท และ SQ (BB) 1 รุ่น 550 ล้านบาท และมีผู้ออก 11 ราย เพิ่งเคยเลื่อนกำหนดชำระเป็นครั้งแรก ขณะที่ EA มีหุ้นกู้ 1 รุ่น มูลค่า 700 ล้านบาท มีเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ แต่ยังไม่มีการผิดนัดชำระหนี้

โดยกลุ่มผู้ออกที่ขอเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ จะกระจายอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่กลุ่มมีการออกหุ้นกู้จำนวนมาก 3 กลุ่มแรก ได้แก่ พลังงาน, อสังหาริมทรัพย์ และไฟแนนซ์

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ในรอบครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่าขยายตัวได้เล็กน้อย โดยมีมูลค่าคงค้าง 17.3 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 93% ของเศรษฐกิจ (GDP) เพิ่มขึ้นเพียง 1.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการออกตราสารหนี้รัฐบาล

ขณะที่การระดมทุนด้วยหุ้นกู้ของภาคเอกชนนั้น พบว่า มีมูลค่าลดลงมาอยู่ที่ 398,820 ล้านบาท หรือ -19.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 494,371 ล้านบาท

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มูลค่าการระดมทุนที่ลดลงนี้ เป็นการลดลงจากทั้งกลุ่ม Investment Grade ในสัดส่วน -19.7% และกลุ่มที่ให้ดอกเบี้ยสูง หรือ High yield ในสัดส่วน -13.2% ทั้งนี้การออกหุ้นกู้ระยะยาวลดลงในเกือบทุกกลุ่มอันดับเครดิต

อันมีสาเหตุมาจากบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งจะจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นกู้เครดิตดี มีสภาพคล่องสูง หันไปใช้วิธีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เพราะอัตราดอกเบี้ยขาลง บางรายมีกระแสเงินสดมาก ดังนั้นจึงทำให้เห็นภาพมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนดอยู่ที่ 450,000 ล้านบาท แต่มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวเพียง 400,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากหุ้นกู้กลุ่ม High Yield โดยรวมออกได้ต่ำกว่าที่ครบกำหนด จากเซนติเมนต์ในตลาดยังไม่กลับมา และผู้ลงทุนยังระมัดระวังในการลงทุนหุ้นกู้

ส่งผลให้ในปี 2568 นี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ต้องปรับลดคาดการณ์ยอดระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ใหม่ลดลงเหลือ 800,000 ล้านบาท จากเดิมคาดไว้ที่ 850,000-900,000 ล้านบาท และมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนดเดิม 890,000 ล้านบาท อาจออกไม่ครบ เพราะหุ้นกู้ที่ขอยืดหนี้ไปแล้วจะออกใหม่

ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 นี้ จะมีหุ้นกู้ระยะยาวจะครบกำหนดรวมมูลค่า 414,810 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ Investment Grade จำนวน 365,923 ล้านบาท และหุ้นกู้ High Yield มูลค่า 48,887 ล้านบาท แบ่งเป็นการครบกำหนดในไตรมาส 3 มูลค่า 194,385 ล้านบาท และในไตรมาส 4 มูลค่า 220,424 ล้านบาท

ผู้บริหารสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยยอมรับว่ามีการจับตาหุ้นกู้ที่ส่งสัญญาณผิดนัดชำระและขอยืดอายุหนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจอาจทำให้ภาคเอกชน… “สะดุด”… ได้

Back to top button