พาราสาวะถี อรชุน

ร้อนรับช่วงสงกรานต์พอดิบพอดีกับท่าทีของ “โฆษกไก่อู” สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่เรียกร้องสองพรรคการเมืองใหญ่เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ รักษาคำพูดไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ เป็นการให้ข่าวแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เท่านั้นแหละ บรรดาแกนนำของพรรคเก่าแก่และพรรคนายใหญ่ต่างรุมสหบาทาสับเละเทะ


ร้อนรับช่วงสงกรานต์พอดิบพอดีกับท่าทีของ โฆษกไก่อู” สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่เรียกร้องสองพรรคการเมืองใหญ่เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ รักษาคำพูดไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ เป็นการให้ข่าวแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เท่านั้นแหละ บรรดาแกนนำของพรรคเก่าแก่และพรรคนายใหญ่ต่างรุมสหบาทาสับเละเทะ

โดยเฉพาะคนจากประชาธิปัตย์ในฐานะที่เคยร่วมงานกันมาก่อนในช่วงปราบม็อบเสื้อแดงปี 2553 ไม่เชื่อว่าคนที่คุ้นเคยกันจะมีนิสัยเปลี่ยนไปมากเช่นนี้ จึงไม่แน่ใจว่าไปรับงานใครมาป่วนหรือเปล่า แต่ไม่ว่าจะอย่างไร งานนี้เป็นการเรียกแขกสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น แม้จะออกมาแก้ต่างล่าสุด ไม่เคยเห็นใครเป็นศัตรู แต่ช้าไปแล้ว

แนวคิดและการกระทำมันบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเป็นแต่การใช้อำนาจข่มขู่ ยกอารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ก็พอจะเข้าใจไก่อูได้ เมื่อท่าทีของท่านผู้นำ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดือดปุดๆ ประสานเข้ากับ พลเอกธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกขู่ปรับทัศนคติคนที่เห็นต่างกับร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นหน้าที่ของลูกไล่กระบอกเสียงที่ต้องทำหน้าที่สอพลอนาย

เตือนด้วยความนุ่มนวลประสาคนผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ภูมิธรรม เวชยชัย สะกิดเตือนไก่อู เรื่องการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องหลัก ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังแสดงความเห็นว่าด้วยเรื่องของรัฐธรรมนูญกันอยู่ว่าไม่เหมาะสมอย่างไร ดังนั้น โฆษกรัฐบาลอย่าเที่ยวเอาคำพูดของตัวเองไปใส่ปากคนอื่น เพราะเป็นเรื่องไม่สมควร เป็นเด็กต้องรู้จักที่จะให้ความเคารพต่อความคิดของผู้อื่นด้วย

เห็นความไม่พอใจของผู้มีอำนาจต่อฝ่ายที่แสดงท่าทีไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยแล้ว มีเวทีสัมมนาวิชาการที่หนึ่งจัดในต่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในมลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ภายใต้งานที่ชื่อว่า Thailand Update 2016 มีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมวิเคราะห์ถึงปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยในปัจจุบัน

โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังเป็นทั้งอาจารย์ นักศึกษา นักกิจกรรมและประชาชนทั่วไปในนครนิวยอร์กและมลรัฐใกล้เคียงที่สนใจเรื่องประเทศไทยร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ที่น่าสนใจเป็นบทวิเคราะห์ของ ดันแคน แมคคาร์โก ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยลีดส์ ผู้ซึ่งเป็นคนขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดงาน Thailand Update ทุกๆปีที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

โดยแมคคาร์โกได้นำเสนอบทวิเคราะห์ทางการเมือง”ทางออกหรือทางตัน ความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญไทย” ซึ่งเขาได้เกริ่นถึงประเด็นสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญไทยในสามทศวรรษที่ผ่านมาว่า ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถูกร่างขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้เกิดระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กลับมุ่งเน้นไปที่การกีดกันอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ออกจากการเมืองไทย

ส่วนร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการกันอยู่ กลับมีแรงผลักดันที่ชัดเจนว่า ต้องการที่จะยืดเวลาการครองอำนาจทางการเมืองของกองทัพออกไปให้นานที่สุดและพาประเทศไทยย้อนกลับไปในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ผลที่ตามมาก็คือ  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูจะไม่เป็นที่ต้องการของทุกฝ่าย ยกเว้นตัวคณะรัฐประหารเองที่ดูเหมือนจะอยากครองอำนาจผ่านกระบวนการปฏิรูปการเมืองออกไปอย่างน้อยอีกยี่สิบปี

ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนทักษิณซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือและภาคอีสาน ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่เคยสนับสนุนกองทัพให้ออกมารัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ก็ดูเหมือนจะเริ่มหมดความอดทนกับรัฐบาลทหารที่ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะภัยแล้งและโครงการเมกะโปรเจ็กต์

ส่วนโครงการคืนความสุขและความสงบให้คนไทย นับวันก็ถูกมองว่าเป็นแค่ลมปากของผู้นำคณะรัฐประหาร และล่าสุด กระทั่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังออกวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แหม!ต้องชื่นชมศาตราจารย์แมคคาร์โกที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากเมืองไทยได้อย่างรวดเร็ว

ด้วยเหตุนี้ แมคคาร์โก จึงมองว่า เป็นการยากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 จะเดินตามรอยร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งผ่านการทำประชามติด้วยคะแนนเฉียดฉิว เพราะในคราวนี้แนวโน้มค่อนข้างชัดเจนว่า คนไทยส่วนใหญ่จะลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติที่กำลังจะมาถึง ดีนะที่ว่าอยู่ต่างประเทศ หากเป็นนักวิชาการไทยสงสัยไม่รอดถูกเรียกปรับทัศนคติชัวร์

อย่างไรก็ตาม แมคคาร์โก ปิดท้ายการวิเคราะห์ด้วยการคาดการณ์ว่า หากผลของการลงประชามติในเดือนสิงหาคมนี้ คือการที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาโดยคณะรัฐประหาร การเมืองไทยจะเผชิญจุดเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง เพราะความชอบธรรมของกองทัพในการครองอำนาจทางการเมืองจะถูกสั่นคลอน

โดยเขาได้ยกตัวอย่างการทำประชามติครั้งสำคัญในโลก ไม่ว่าจะเป็น กรณีการแยกตัวเป็นอิสระของสกอตแลนด์จากสหราชอาณาจักรในปี 2557 การเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของนอร์เวย์ ในปี 2515 การแยกตัวเป็นอิสระของแคว้นควิเบคจากแคนาดาในปี 2538 หรือกระทั่งล่าสุด การแยกตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรปที่จะมีการทำประชามติในเดือนมิถุนายนปีนี้

ในทุกกรณีที่กล่าวมา ผลประชามติได้ทำให้ผู้นำของฝ่ายที่แพ้ในการรณรงค์ประชามติต้องลาออกจากตำแหน่ง และแน่นอนว่า เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็จะทำเช่นเดียวกันหากฝ่ายของเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ในการทำประชามติเพื่อให้สหราชอาณาจักรแยกตัวจากอียูในเดือนมิถุนายนนี้ แต่สปิริตเช่นนี้ไม่น่าจะใช้ได้กับการเมืองไทย

กระนั้นก็ตาม แมคคาร์โกที่ยอมรับว่าการเมืองไทยนั้นยังห่างไกลกับการเมืองในสหราชอาณาจักร แต่เขาก็มั่นใจว่าผลของการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยของประชาชนคนไทยจะทำให้คณะรัฐประหารได้รู้เสียทีว่า ตัวเองนั้นไม่ได้เป็นศูนย์กลางจักรวาล หากแต่เป็นผู้ปกครองที่แสนจะงุ่นง่านและมัวแต่ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อกระแสความขุ่นข้องหมองใจของคนในประเทศที่มีต่อระบอบการปกครองของตน ไม่รู้ว่ามุมมองเช่นนี้คือมุมของต่างชาติที่เข้าใจสถานการณ์ไทยเหมือนอย่างที่ผู้มีอำนาจคุยโขมงหรือเปล่า

Back to top button