ผองเธอ ชื่อ ชวนา-วันเพ็ญ-พรทิพย์

ตลาดหุ้นไทยไม่เคยขาดเรื่องอื้อฉาว ทำให้พื้นที่นี้ ไม่เคยขาดเรื่อง “แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น” ยาวนานหลายเดือน และน่าจะยืนยาวไปอีกนานจนกว่าจะหมดเรื่องฉาว...ไม่รู้เมื่อไหร่


ตลาดหุ้นไทยไม่เคยขาดเรื่องอื้อฉาว ทำให้พื้นที่นี้ ไม่เคยขาดเรื่อง “แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น” ยาวนานหลายเดือน และน่าจะยืนยาวไปอีกนานจนกว่าจะหมดเรื่องฉาว…ไม่รู้เมื่อไหร่

ล่าสุด ปฏิบัติการหยามน้ำหน้าผู้บริหารตลาดหุ้นไทย และเหยียบจมูก ผู้บริหาร ก.ล.ต. ที่อ้างตนเป็นคนประเภท “สายเหยี่ยว” เข้าเต็มเปา ในกรณีของบริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR   พร้อมกับราคาหุ้นที่หวือหวาทั้งร่วงและทะยานแรงชนิดความแปรปรวนพุ่งกระฉูด

ประเด็นของปัญหา-ของ SOLAR อยู่ที่ผลประกอบการไตรมาสแรก ส่อเค้าไม่ดีล่วงหน้ามาพอสมควร แต่ก็ไม่มีใครคาดเดาว่าจะย่ำแย่มากมายอะไร อาจจะแค่กำไรลด…ทำนองนั้น

เรื่องมาขมวดปมอยู่ที่ ก่อนหน้าที่จะมีการแจ้งตลาดถึงงบไตรมาสแรกออกมาสองวัน ก็มีรายงานต่อตลาดถึงการขายทิ้งหุ้นล็อตใหญ่ของหนึ่งในผู้ถือหุ้นสำคัญที่ถือมายาวนาน คือนาย นริศ จิระวงศ์ประภา ผู้ถือหุ้นอันดับสองของ SOLAR ส่อเค้าอินไซเดอร์ขายหุ้นออกมา 0.37% เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันทำการวันแรกหลังจากหยุดยาว 4 วันในช่วงวันฉัตรมงคล คงเหลือในมืออีก 4.63% จากเดิมที่เคยถือ 6.62%

นริศ จิระวงศ์ประภา เป็นใคร….ข้อมูลที่มีอยู่บอกว่าเขาเป็นนักลงทุนขาใหญ่ประเภท “วีไอ” ถือหุ้นใน SOLAR มายาวนานพอสมควร

รายการการขายหุ้นทิ้งของรายใหญ่อย่างนริศ เกิดขึ้นก่อนที่งบการเงินจะแจ้งต่อตลาดเพียงแค่ 1 วันในวันที่ 13 พฤษภาคม (เท่ากับนริศขายก่อนหน้านั้น 3 วันทำการแล้ว หรือตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม) ซึ่งเมื่อมีรายงานผลประกอบการออกมาว่า SOLAR และบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 21.61 ล้านบาท หรือขาดทุนหุ้นละ 0.04 บาท  เทียบกับปีก่อน กำไรสุทธิ 2.39 ล้านบาท

ผลลัพธ์จากการขาดทุนมากกว่าคาด และการขายทิ้งหุ้นของรายใหญ่ เป็นผลรวมที่ทำให้ราคาหุ้น SOLAR ร่วงติดฟลอร์เลยทีเดียว โดยที่วันนั้นราคาหุ้นปิดที่ระดับ 5.75 บาท ลดลงมากถึง 2.35 บาท หรือลดลง 29.01%  และมีมูลค่าการซื้อขายวันดังกล่าว 299.74 ล้านบาท

การขายหุ้นทิ้งของรายใหญ่จำนวนมากก่อนประกาศงบที่เลวร้าย จะไม่ให้มีคำถามเรื่องอินไซเดอร์ เทรดดิ้ง..ก็คงจะด้านชาเกินไป

หลังจากนั้นอีกต่อมาอีก 4 วัน ราคาหุ้นของ SOLAR ก็ร่วงลงมาที่ระดับต่ำสุด 4.12 บาท ในวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม แล้วมาปิดที่ระดับ 4.20 บาทก่อนที่จะหยุดยาวไป 3 วัน

เปิดมาวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม ราคาหุ้น SOLAR ถูกแรงซื้อตั้งแต่เปิดตลาดดันแรงขึ้นไปที่จุดสูงสุดของวันที่ระดับ 4.68 บาท ก่อนที่จะมีแรงขายทำกำไรออกมาให้ปิดที่ 4.28 บาท

หลังจากตลาดปิด มีรายงานออกมาว่า มีการแก้ไขตัวเลขการขาดทุนจากที่แจ้งไปแล้วครั้งแรก กลายเป็นตัวเลขใหม่ที่ปรับปรุงแล้วที่ทำให้เกิดตัวเลขการขาดทุนลดฮวบ มาอยู่ที่เพียงแค่ ขาดทุนสุทธิเพียง 2.61 แสนบาท ขาดทุนแค่หุ้นละ 0.01 บาท

พอถึงเช้าวันที่ 24 พฤษภาคม ท่ามกลางราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นแรงในตอนเปิดตลาดที่ระดับสูงสุดของวัน 4.84 บาท ก็ปรากฏตัวเลขรายงานการขายหุ้นทิ้งของนายพงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี นักลงทุนรายใหญ่อันดับหนึ่งของ SOLAR เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559  เป็นสัดส่วนมากถึง 4.05% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการจำหน่ายคิดเป็น  14.58% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ

ข้อมูลดังกล่าว ทำให้ราคาหุ้นของ SOLAR ร่วงลงมาปิดอยู่ที่ระดับ 4.62 บาท

การวิ่งขึ้นของราคาหุ้นแรงเมื่อมีรายการข่าวดี ก่อนที่จะมีตัวเลขการขายหุ้นทิ้งของรายใหญ่ให้ราคาร่วงลงมา…จะไม่ให้มีคำถามเรื่องอินไซเดอร์ เทรดดิ้ง..ก็คงจะด้านชาเกินไป

คำถามเหล่านี้ คนที่จะค้นหาคำตอบมาเปิดเผยต่อสาธารณะก็หนีไม่พ้นผู้บริหารตลาดหุ้น และ ผู้บริหาร ก.ล.ต. ที่ระยะหลายเดือนมานี้  ชอบแสดงตนให้คนเข้าใจว่ามีท่าทีแบบ “สายเหยี่ยว” ว่า แท้ที่จริงแล้ว ภาพลักาณ์ กับฝีมือการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องหลังธุรกรรมด้านบันทึกบัญชีของบริษัท และ การวิ่งหวือหวาของราคาหุ้นนั้น มีความผิดธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน

ถึงเวลาที่ต้องพิสูจน์เช่นกันว่า ผู้บริหารของ ตลาดหุ้น และก.ล.ต. เป็นเสือจริง หรือแค่ เสือกระดาษ

แต่..ยังมีประเด็นอื่นที่ไม่ควรพลาดเอ่ยถึงเช่นกัน

แต่ที่สำคัญคือ วิศวกรรมการเงินที่บันทึกบัญชีผิดพลาดตามที่นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารของ SOLAR ได้ชี้แจงว่า 1) …ได้บันทึกรายการผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนตามสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าไว้สูงไป ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมและงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ซึ่งได้รับการสอบทานและออกเผยแพร่ 2) …ข้อผิดพลาดจากการคำนวณเป็นผลกระทบจากงบการเงินในปี 2558 จึงปรับปรุงย้อนหลังงบปี 2558 ที่แสดงเป็นข้อมูลเปรียบเทียบ

งบการเงินที่ผิดพลาด ที่ผ่านมือของผู้ตรวจสอบบัญชี 3 คนจากสำนักงาน “ปิติเสวี” ที่ประกอบด้วย น.ส.ชวนา วิวัฒน์พนชาติ  และ น.ส.วันเพ็ญ อุ่นเรือน และ น.ส.พรทิพย์ อมรชัยเลิศพัฒนา…..ก็สมควรถูกตั้งคำถามเช่นกัน

ผู้ตรวจสอบบัญชีทั้ง 3 คน หากถือตามข้อมูลล่าสุดจากทาง SOLAR ระบุว่า ได้รับค่าจ้างตรวจสอบบัญชีเป็นรายไตรมาสงวดละ 1.51 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วรายละ 5 แสนบาทเศษ…..มีส่วนร่วมต่อปัญหา “ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น” เต็มๆ ไม่อาจเลี่ยงพ้นได้

คำถามนี้ สภาวิชาชีพบัญชี หรือ FAP คงต้องให้คำตอบได้ว่าควรจะดำเนินการต่อผู้สอบบัญชีที่ “สะเพร่า” อย่างไร

เพราะหาก FAP ไม่ดำเนินการอะไร …สงสัยคงต้องหันไปใช้ BREEZE กันมากขึ้น

อิ อิ อิ

Back to top button