สัปดาห์ของการผจญภัยพลวัต 2016

มีใครก็ไม่รู้ ยกสถิติที่ไม่น่าเชื่อถือมาอ้างว่า ทุกช่วงเวลาที่มีการแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างบอลโลก หรือ ยูโร หรือโคปาอเมริกา หุ้นจะตกหรือขึ้นไม่ได้ เหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อาจจะเข้าเค้าข้ออ้างดังกล่าวได้ แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง


วิษณุ โชลิตกุล

 

มีใครก็ไม่รู้ ยกสถิติที่ไม่น่าเชื่อถือมาอ้างว่า ทุกช่วงเวลาที่มีการแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างบอลโลก หรือ ยูโร หรือโคปาอเมริกา หุ้นจะตกหรือขึ้นไม่ได้ เหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อาจจะเข้าเค้าข้ออ้างดังกล่าวได้ แต่นั่นไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า หนึ่งในตัวแปรที่ทำให้เกิดการเทขายแรงทั่วโลกเมื่อวันศุกร์ อยู่ที่การร่วงของราคาน้ำมัน หลังจากเมื่อวันพฤหัสบดี ทำจุดสูงสุดของปีเหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปแล้ว จึงเกิดแรงขายทำกำไรตามปัจจัยทางเทคนิค และส่งผลต่อราคาหุ้นทั่วโลกโดยทางอ้อม

ส่วนเหตุผลรองลงไป และถือว่ามีความสำคัญในสัปดาห์นี้คือ การขายทำกำไรเพื่อถือเงินสดรอความชัดเจนจากกระบวนการตัดสินใจสำคัญหลายประการ ดูเหมือนว่าจะประดังกันมาเกิดในสัปดาห์นี้ถึงต้นสัปดาห์หน้ากันเลย ระหว่าง 14-25 มิถุนายน ซึ่งผลลัพธ์ยังคลุมเครือ และอาจจะไม่ไปในทิศทางเดียวกัน

ปรากฏการณ์ มีนับแต่ 1) การประชุมFOMC ของเฟดฯ 2) การประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ และญี่ปุ่น 3) การลงประชามติที่ตอนนี้โพลล์บอกว่าสูสีกันมากของกลุ่มที่สนับสนุนให้อยู่กับกลุ่มที่อยากให้ออกจากสหภาพยุโรป 4) การทบทวนดัชนี MSCI ของหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ที่จะมีการประเมินจีน ปากีสถานและเปรูใหม่ 5) การประชุมประจำปีของแอปเปิล อิ๊งก์กับตัวแทนการขายระดับโลกที่จะบ่งชี้เกี่ยวกับทิศทางการตลาดปีนี้และปีหน้า 6) การประชุมพรรครีพับลิกันเพื่อชี้ว่า นายโดนัลด์ ทรัมพ์ จะได้เป็นตัวแทนพรรคหรือไม่ในการสมัครเป็นประธานาธิบดี หลังจากทราบผลว่านางฮิลลารี คลินตันได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตไปแล้ว

ความไม่ชัดเจนว่า ผลลัพธ์ทั้ง 6 เรื่องดังกล่าวจะมีทิศทางเช่นใด ทำให้ความปลอดภัยสูงสุดในยามนี้ คือถือเงินสด เพื่อรอผลลัพธ์ที่ชัดเจนเสียก่อน

ท่าทีของนักลงทุนทั้งสถาบัน และ “ขาใหญ่” ของตลาดเก็งกำไรที่หนีจากตลาดหุ้นชั่วคราวไปถือทองคำ และพันธบัตรระยะยาว จนกระทั่งราคาสินค้าทั้งสองพุ่งขึ้นแรงเมื่อวันศุกร์ สะท้อนอารมณ์แปรปรวนของนักลงทุนในยามที่มีทางเลือกในการลงทุนต่ำกว่าระดับปกติเฉพาะในตลาดเก็งกำไร ในขณะที่ตลาดสินค้าและบริการนั้น ยังคงไม่มีทีท่าจะฟื้นตัวเป็นขาขึ้นระยะยาวได้เลย

ตลาดเก็งกำไรที่กลายเป็นทั้งที่พึ่ง และเป็นทั้งการผจญภัยทางการเงิน จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เลี่ยงไม่พ้น ในยามที่ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนว่า อัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นพร้อมกันทั้งโลก เนื่องจากการลงทุนต่ำกว่าเงินออมในตลาดเงิน และมีปริมาณเงินส่วนเกินท่วมโลก

ทุนที่ล้นเกินจากการที่ปริมาณเงินซึ่งชาติหลักของโลก (สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น) ได้พิมพ์ออกมาในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาจนท่วมตลาด และทำท่ามีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นการ  “เสพติดนโยบาย” จนเกินความสามารถที่ภาคการผลิตและบริการจะรองรับหรือดูดซับไหว  ไม่สามารถแปรสภาพเป็นการผลิตซ้ำใหม่ จนเกิดการจ้างงานหรือกำลังซื้อใหม่ ให้เศรษฐกิจเป็นขาขึ้นยั่งยืน แต่กลับจมปลักกับภาวะเงินเฟ้อติดลบ หรือเงินฝืดเรื้อรัง

ทุนล้นเกินซึ่งได้กลายสภาพเป็นทุนเก็งกำไรระหว่างประเทศนี้ ประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ที่แต่ละวันจะเที่ยวเร่ร่อนเป็นสัมภเวสีไปยังแหล่งตลาดเก็งกำไร 4 แหล่ง ได้แก่ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกันต่อเนื่องภายใต้กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์

แรงจูงใจในการลาดตระเวนของทุนเก็งกำไรที่มีขนาดมหึมาเปรียบเสมือน “ยักษ์นอกตะเกียงอะลาดิน” ได้แก่ ผลตอบแทนระยะสั้นของการลงทุน เมื่อใดที่ตลาดใดก็ตาม ที่โดยรวมเกิดสภาพราคาหลักทรัพย์ต่ำกว่าพื้นฐาน โดยเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆ ทุนเหล่านี้จะดาหน้ากันเข้าไปหาประโยชน์ ไม่ได้ใส่ใจกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ แต่อย่างใด

แล้วเมื่อใดที่ตลาดดังกล่าวเริ่มเข้าเขตอิ่มตัวของขาขึ้น หรือมีอัพไซด์แคบลงจนไม่คุ้ม ทุนเหล่านี้จะอำลาจากไปโดยไม่เหลือเยื่อใย โดยที่ก็ไม่ได้ใส่ใจกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อีกเช่นกัน

บรรยากาศขาขึ้นหรือกระทิงเล็ก ยาวนานประมาณ 2 สัปดาห์ของตลาดหุ้นไทย ที่ทำให้ดัชนี SET พุ่งขึ้นเหนือแนวต้าน 1,440 จุด แล้วผ่านไม่ได้ ต้องย่อตัวลงมาใต้แนวต้านดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงเข้ากับฟันด์โฟลว์จากทุนเก็งกำไรส่วนเกินโลกที่ไหลเข้ามา แล้วพร้อมจะไหลออกไปง่ายๆ ชัดเจน

คำถามที่ท้าทายว่าสัปดาห์นี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีโมเมนตัมขาลงหรือขาขึ้น จึงไม่เหมาะกับช่วงเวลาหรือถามไปก็ป่วยการเปล่า เพราะสถานการณ์ยามนี้ คำถามสำคัญกว่าและจำเป็นต้องเร่งตอบคือ นักลงทุนจะเอาตัวรอดจากการผจญภัยในการลงทุนเก็งกำไรได้อย่างไร และดีแค่ไหน

คำตอบเบื้องต้นคือ ความกล้าหาญอย่างเดียวไม่พอแน่นอน เพราะอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างยิ่งยวด แต่ความละเอียดรอบคอบของการคัดเลือกหุ้นในจังหวะของการเข้าซื้อ และออกตัว ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่ที่จะขาดไม่ได้เลยคือ การยึดมั่นที่จะรักษาสภาพคล่องที่เป็นเงินสดเผื่อเหลือเผื่อขาดกับความผันผวนที่คาดไม่ถึงที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้น

คำพูดเก่าแก่ประเภท “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ (Nothing is impossible.)” จึงเป็นคำแนะนำที่พึ่งพิงได้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะขาดรายละเอียดอย่างมาก

เพียงแต่คำแนะนำให้ “ซื้อ” ต่างหาก เป็นสิ่งที่พึงใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบเป็นพิเศษ

X
Back to top button