“มัดแมน” ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 210.98 ล้านหุ้น จ่อเข้าเทรด mai

"มัดแมน" ผู้ดำเนินธุรกิจการลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 210.98 ล้านหุ้น จ่อเข้าเทรด mai หวังระดมทุนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและดำเนินการทั่วไปจ่อเข้าเทรด mai โดยมีธ.ไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า บริษัทมัดแมน จำกัด (มหาชน) หรือ MM ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) version แรกเมื่อวันที่ 8 ก.ย.59 เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 210,980,750 หุ้น แบ่งเป็น หุ้นเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 105,490,375 หุ้นเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของ บริษัททรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SST ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive Right) และจัดสรรเพื่อเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปจำนวนไม่เกิน 105,490,375 หุ้น

ทั้งนี้ บริษัทมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และจะนำเงินระดมทุนไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและใช้สำหรับการดำเนินการทั่วไป, การชำระเงินกู้ยืม, ลงทุนขยายธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบล.ไทยพาณิชย์ เป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO

โดยบริษัทดำเนินธุรกิจการลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) ปัจจุบันมีเงินลงทุนในธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจไลฟ์สไตล์ ได้แก่ บริษัท โกลเด้น โดนัท (ประเทศไทย) จำกัด (GDT) ภายใต้แบรนด์ “Dunkin’ Donuts”, บริษัท เอบีพี คาเฟ่ (ประเทศไทย) จำกัด (ABP) ภายใต้เครื่องหมายการค้า”Au Bon Pain”, บริษัท โกลเด้น สกู๊ป จำกัด (GS) ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Baskin Robbins”, บริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด (GHC) ภายใต้แบรนด์ Greyhound Cafe’

นอกจากนี้ GHC ยังได้จัดตั้งบริษัทย่อยชื่อ GHC Cafe’ (UK) Co., Ltd ในประเทศอังกฤษ เพื่อพัฒนาและดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในประเทศอังกฤษ โดย GHC ถือหุ้น 100% ใน GHC Cafe’ (UK) และ จัดตั้ง บริษัท เกรฮาวด์ จำกัด (GHF) ประกอบธุรกิจไลฟ์สไตล์ โดยใช้แบรนด์เกรฮาวด์ในการต่อยอดธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นสำเร็จรูป ปัจจุบันมีร้านสาขา 16 แห่ง

สำหรับบริษัทมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำทางธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม กลยุทธ์หลักคือ การเพิ่มจำนวนสาขาของทุกแบรนด์ทุกปี เป็นการเติบโตตามธรรมชาติ (Organic Growth) โดยวางแผนลงทุนขยายสาขาและการปรับปรุงภาพลักษณ์สาขาอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบนรด์ ขยายช่องทางการกระจายสินค้า และนำเสนอร้านค้าในรูปแบบใหม่ โดยแผนการดังกล่าวเป็นกลยุทธ์เพื่อเพิ่มยอดขาย รักษากลุ่มลูกค้าเดิมและขยายฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยโครงการในอนาคตสำหรับธุรกิจภายใต้แบรนด์เกรฮาวด์นั้น ในส่วนของธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม “เกรฮาวด์ คาเฟ่” จะขยายสาขาในประเทศเพิ่มอีก 6-9 สาขา เป็นทั้งหมด 19-22 สาขาภายในปี 63 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 15 -20 ล้านบาทต่อสาขา ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ร้าน พร้อมทั้งขยายสาขาในต่างประเทศผ่านการให้สิทธิแฟรนไชส์ ซึ่งมีจำนวน 11 สาขาใน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง และมาเลเซีย โดยบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มจำนวน Franchisee ในประเทศใหม่ทุกปี ปีละ 1-2 ราย

ขณะที่โครงการขยายสาขาร้าน “เกรฮาวด์ คาเฟ่”ในประเทศอังกฤษ มีแผนในการสร้างสาขาแห่งแรกด้วยตัวเองเพื่อเป็น Flagship Store ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Basic with a Creative Twis”เพื่อสร้างประสบการณ์ของแบรนด์ให้กับลูกค้า และมุงหวังให้สาขาแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นสาขาต้นแบบในการขยายสาขาร้านอาหารผ่นการให้สิทธิแฟรนไชส์ในทวีปยุโรปในอนาคต

ส่วนธุรกิจไลฟ์สไตล์มีแผนจะปลุกปั้นแบรนด์”เกรฮาวด์”ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์และความแข็งแกร่งเป็นทุนเดิม เพื่อเข้าสู่ความเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่มากกวำแฟชั่นและอาหาร โดยขยับตัวทางการตลาดครั้งใหญํคือการเปิดตัว ‘เอเวอร์รีติงฮาวด์’ (Everything Hound) ซึ่งเป็นที่รวมทั้งสินค้าหลากหลายชนิด โดยการเปิด “เกรย์ฮาวด์ คอนเซปต์ สโตร์”ทั้งสองสาขา คือ กลยุทธ์ใหม่ทางการตลาดที่ “เกรย์ฮาวด์ กรุ๊ป” พยายามก้าวสูความเป็น ‘ไลฟ์สไตล์แบรนด์’ ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทอาจพิจารณาขยายสาขาร้านอาหารและเครื่องดื่มไปประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เป็นต้น อีกทั้งมีแผนนำเสนอร้านค้ารูปแบบใหม่ โดยมีโครงการพัฒนารูปแบบร้าน โอ บอง แปง (ABP) ให้เป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพเต็มรูปแบบ และพัฒนารูปแบบร้าน ดังกิ้น โดนัท (DD) จากสาขาขนาดเล็ก (Kiosk) เป็นร้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ตลอดจนเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า เช่น อินเตอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) และจุดเชื่อมต่อปลั๊กไฟ รวมถึงรูปแบบร้านแบบไดร์ฟทรู (Drive Thru) เพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น

รวมไปถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอมมูนิตี้ มอลล์ (Community Mall) เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งบริษัทเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จะตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมืองย่านทองหล่อ มีร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ดำเนินงานโดยบริษัทย่อยเป็นผู้เช่าหลักร่วมกับผู้เช่ารายอื่นประกอบด้วย คาดว่าจะเริ่มให้บริการในชํวงไตรมาส 1/60 งบลงทุนในโครงการดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 40-50 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลดำเนินงานช่วงปี 56, 57 และ 58 บริษัทและบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งหมดเท่ากับ 1.86 พันล้านบาท, 2.24 พันล้านบาท และ 2.89 พันล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (Compound Annual Growth Rate) ที่ 25% ขณะที่กำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)จำนวน 215 ล้านบาท, 216 ล้านบาท และ 253 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็น EBITDA Margin เท่ากับ 12%, 10% และ 9% ตามลำดับ และในงวด 6 เดือนแรกสิ้นสุด 30 มิ.ย.59 บริษัท และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งหมด 1.48 พันล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 19.5 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 3.96 พันล้านบาท หนี้สินรวม 1.83 พันบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 2.12 พันล้านบาท

โดยปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 843,923,000 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท หลังขาย IPO ในครั้งนี้แล้ว จะมีทุนจดทะเบียน จำนวน 1,054,903,750 บาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาทผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ณ วันที่ 19 เม.ย.59 คือ SST ถือหุ้น 677,939,000 หุ้น คิดเป็น 80.3% ภายหลังเสนอขาย IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 64.27% รองลงมาเป็น บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ถือหุ้น 78,718,600 หุ้น คิดเป็น 9.3% ภายหลังเสนอขาย IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 7.46%

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษี และหลังหักเงินสำรองตามกฎหมาย รวมถึงเงินสำรองอื่น ๆ (ถ้ามี)

Back to top button