พาราสาวะถีอรชุน

ถอดรหัสคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอบคำถามของนักข่าวจากเอบีซี นิวส์ของออสเตรเลียเมื่อวันวาน ก็พอจะเข้าใจเหตุผลเรื่องที่รัฐธรรมนูญซึ่งกำลังยกร่างกันอยู่ว่าทำไมมันถึงเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ คือมีทั้งลากตั้งและเลือกตั้ง เพราะคำตอบของผู้นำไทยแลนด์ที่ถูกถามว่าหลายคนอยากให้มีการเลือกตั้ง แต่ท่านผู้มีอำนาจบอกว่า มีหลายคนไม่ต้องการการเลือกตั้ง


ถอดรหัสคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอบคำถามของนักข่าวจากเอบีซี นิวส์ของออสเตรเลียเมื่อวันวาน ก็พอจะเข้าใจเหตุผลเรื่องที่รัฐธรรมนูญซึ่งกำลังยกร่างกันอยู่ว่าทำไมมันถึงเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ คือมีทั้งลากตั้งและเลือกตั้ง เพราะคำตอบของผู้นำไทยแลนด์ที่ถูกถามว่าหลายคนอยากให้มีการเลือกตั้ง แต่ท่านผู้มีอำนาจบอกว่า มีหลายคนไม่ต้องการการเลือกตั้ง

ก็ไม่รู้ว่าหลายคนที่บิ๊กตู่อ้างถึงนั้นหมายถึงใคร ไม่น่าจะใช้ผู้คนฝ่ายประชาธิปไตยแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องย้อนไปถึงกลุ่มคนดีทั้งหลายแหล่ที่ได้ดิบได้ดีจากการลากตั้ง นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงหนนี้ ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่พากันไปเคลื่อนไหวข้างถนนล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั่นเอง

แต่ประเด็นเหล่านั้น คงต้องรอกระบวนการพิสูจน์หลังจากที่รัฐธรรมนูญร่างกันเสร็จสรรพเรียบร้อย แม้ว่าจะพอเห็นร่องรอยของความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอยู่บ้างแล้วก็ตาม ในสถานการณ์ ณ วันนี้ เรื่องมาตรา 44 ดูเหมือนว่าจะมีความน่าสนใจกว่ามากสิ่งไหน ไม่เว้นแม้แต่ หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจตามมาตรานี้ของบิ๊กตู่

ในมุมของท่านใหม่มองว่า พลเอกประยุทธ์สามารถใช้อำนาจได้ 3 ทาง คือ นิติบัญญัติ ตุลาการและบริหาร เรียกว่าอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจเดียวกันกับประมุขแห่งประเทศ ซึ่งในประเทศไทย จึงหมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นองค์อธิปัตย์ จึงทำให้ ไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กำลังจะกระทำการสิ่งใด

การสถาปนาตนเองเทียบเท่าประมุขแห่งประเทศนั้น จะใช้อำนาจไปเพื่อใคร ใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนหรือไม่ ตนจึงยังไม่อยากได้กล่าวหาพลเอกประยุทธ์ เพียงแต่ต้องเฝ้าติดตามดูสถานการณ์ต่อไป นักวิชาการ นักกฎหมาย และนักการเมืองหลายคน ออกมาวิจารณ์และไม่เห็นด้วย โดยกล่าวหาว่าเป็น อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือเป็นอำนาจที่ไม่ชอบตามกฎหมาย ซึ่งยังไม่มีใครวิจารณ์ได้ถูกต้องตามหลักการหรือหลักวิชา

แต่การเอา“อำนาจรัฐสูงสุด” ไว้กับบุคคลคนเดียวที่ไม่ได้ยึดมั่นในธรรม เช่นเดียวกันกับพระมหากษัตริย์ ที่ทรงทศพิธราชธรรม จึงถือว่าอันตรายต่อประเทศชาติและประชาชน เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม หวังว่าพลเอกประยุทธ์คงจะไม่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง หรือนายทุนใหญ่ หรือใช้อำนาจไปในทางที่ผิด

โดยที่หม่อมเจ้าจุลเจิม ขู่ว่าถ้าหากบิ๊กตู่ทำไปเพื่อการดังว่า พลเอกประยุทธ์และรัฐบาลคสช. ก็มีสิทธิ์ที่จะถูกพลังประชาชนออกมาต่อต้านกันเป็นจำนวนมากได้ ก่อนจะทิ้งท้ายว่า เพราะรักท่านผู้นำจึงต้องออกมาพูด อย่าโกรธกัน แต่คล้อยหลังจากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง ท่านใหม่ก็ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว สยบเสียงวิจารณ์ต่อการแสดงออกครั้งนี้

โดยหม่อมเจ้าจุลเจิม ระบุว่าเข้าใจผิดกันไปใหญ่แล้ว ตนไม่ได้บอกว่าไม่เห็นดีงามหรือไม่เห็นด้วยกับบิ๊กตู่ เพียงแต่บอกว่าต้องช่วยกันเฝ้าจับตาดูเท่านั้น ตนเชื่อว่าหัวหน้าคสช.เป็นนายกฯ ที่ดีกว่าทุกๆ คนที่ผ่านมา อย่ามโนไปมากกว่านั้น กรุณาอ่านและตีความให้ถูกต้องด้วย เป็นการติเพื่อก่อก่อนที่จะสายเกินแก้ ชี้แจงกันขนาดนั้นหวังว่าองค์รัฏฐาธิปัตย์คงเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม มีการมองกันไปไกลมากกว่านั้น ด้วยเกิดเสียงเล่าลือกันไปต่างๆ นานาต่อการใช้อำนาจมาตรา 44 ของบิ๊กตู่ ในมิติที่เกรงว่าอาจจะนำมาซึ่งเหตุการณ์ไม่คาดคิด ส่วนจะเป็นเรื่องไหนอย่างไรนั้น มิอาจจะทราบได้ แต่ฝ่ายความมั่นคงและการข่าวคงต้องแกะรอยเพื่อลดแรงกระเพื่อม เนื่องจากไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน

ส่วนผลกระทบที่หลายคนห่วงจากการบังคับใช้มาตรา 44 มีให้เห็นชัดเจน คงเป็นท่าทีของทูตสหภาพยุโรปหรืออียู ซึ่งแสดงความเป็นห่วงไทยในฐานะประเทศคู่ค้า เพราะประเทศในกลุ่มอียูเองไม่เคยมีกฎหมายในลักษณะที่ให้อำนาจผู้นำครอบคลุมในทุกเรื่อง จึงเป็นกังวลว่าหากมีการใช้มาตรา 44 อาจจะมีผลกระทบต่อเรื่องจีเอสพีและเอฟทีเอในอนาคต

นั่นเป็นสัญญาณเกี่ยวกับมาตรา 44 แต่ที่แจ่มแจ้งมากที่สุดคือ กลุ่มทูตอียูแสดงความเป็นกังวลว่าตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะผู้ส่งออกไทย บอกกันตรงๆ ว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขส่งออกไม่กระเตื้องไม่ใช่เพราะปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศ แต่เกิดจากกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่เป็นคู่ค้าสำคัญเหล่านี้แอนตี้รัฐบาลจากการรัฐประหารนั่นเอง

หลายปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ขณะเดียวกันก็กลัวว่ารัฐบาลคสช.จะเสียคะแนนนิยมไปเรื่อยๆ ครม.จึงได้มีมติแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่ธ.ก.ส.ดูแล โดยเป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่มีหนี้สินรายละไม่เกิน 5 แสนบาท จำนวน 8.18 แสนราย รวมหนี้สิน  1.16 แสนล้านบาท ด้วยการ “ล้างหนี้” เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมาเป็นต้นไป

แต่ตามสไตล์ของรัฐบาลที่เกลียดประชานิยม จึงได้ยิน วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยคลังแก้ต่างว่า การปลดหนี้ การขยายเวลาชำระหนี้ครั้งนี้ รัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะสร้างหรือบ่มเพาะนิสัยให้เกษตรกรเป็นหนี้แล้วถึงเวลารัฐบาลก็ยกหนี้ให้ จึงให้ธ.ก.ส.มีมาตรการดูแลฟื้นฟูไม่ให้กลับไปเป็นหนี้ใหม่อีก พร้อมจ้างทีดีอาร์ไอศึกษาว่าจะแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้อย่างไรและต้องไม่ใช่นโยบายประชานิยม

เป็นเอามาก ทั้งๆ ที่สิ่งที่ทำอยู่มันเข้าทำนองเกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ไหนๆ ก็เอาใจเกษตรกรกันไปแล้ว ก็อย่าลืมผู้มีรายได้น้อยกลุ่มอื่นๆ กันบ้าง โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานซึ่งรัฐมนตรีคลังยอมรับเองว่า ภาคเอกชนเริ่มมีการปลดคนงานกันบ้างแล้ว ถ้าจะใช้มาตรา 44 ให้เกิดประโยชน์ก็คงเป็นเรื่องการช่วยเหลือ เยียวยานี่แหละ เพราะ วิษณุ เครืองาม ยืนยันเองถ้าใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือพ.ร.บ.มั่นคงแทนกฎอัยการศึก ไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้

Back to top button