ช้อนทองคำหัก

เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นไทยภาคเช้ามีแรงซื้อเข้ามา หลังจากเมื่อวานมีแรงขายท้ายตลาดทำให้ดัชนีร่วงหนัก แถมยังมีมูลค่าซื้อขายค่อนข้างคึกคัก จนดูเหมือนว่า จะเกิดจุดพลิกกลับที่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคพากันเรียกว่า สามเหลี่ยมใหญ่ที่เป็นจุดซื้อหุ้นคืน แต่แล้วภาคบ่าย ข่าวร้ายจากยุโรป ก็ทำให้ภาวะตลาดหุ้นไทยเข้าข่าย แมวตายเด้ง อีกครั้ง มูลค่าซื้อขายเปาะแปะ เปิดทางให้กับแรงขายของต่างชาติทุบดัชนีร่วงต่อไป จนปิดตลาดหลุดไปใต้ 1,550 จุดเรียบร้อย


พลวัต 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

 

เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นไทยภาคเช้ามีแรงซื้อเข้ามา หลังจากเมื่อวานมีแรงขายท้ายตลาดทำให้ดัชนีร่วงหนัก แถมยังมีมูลค่าซื้อขายค่อนข้างคึกคัก จนดูเหมือนว่า จะเกิดจุดพลิกกลับที่นักวิเคราะห์ทางเทคนิคพากันเรียกว่า สามเหลี่ยมใหญ่ที่เป็นจุดซื้อหุ้นคืน แต่แล้วภาคบ่าย ข่าวร้ายจากยุโรป ก็ทำให้ภาวะตลาดหุ้นไทยเข้าข่าย แมวตายเด้ง อีกครั้ง มูลค่าซื้อขายเปาะแปะ เปิดทางให้กับแรงขายของต่างชาติทุบดัชนีร่วงต่อไป จนปิดตลาดหลุดไปใต้ 1,550 จุดเรียบร้อย

ภาวะซึมเซาอย่างนี้ รวมทั้งแรงขายของต่างชาติจนล่าสุดมียอดสะสมสุทธิใกล้เข้าหา 10,000 ล้านบาทแล้ว ส่งผลให้เกิดคำถามว่า จะถึงเวลาของการใช้ช้อนทองคำเมื่อใด ถึงได้จังหวะในการทำกำไร

คำถามดังกล่าว ยังไม่มีคำตอบชัดเจน เพราะไม่มีใครรู้

ล่าสุดวานนี้ตอนบ่ายแก่ๆ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ พี/อีล่วงหน้าของตลาดที่เกิดจากการคำนวณคาดการณ์รายได้ในอนาคต พบว่า ตลอดปี 2560 นี้ พี/อีล่วงหน้าของตลาดหุ้นไทย ค่อนข้างขี้เหร่ไม่เบา เพราะอยู่ในระดับหัวแถวเลยทีเดียว (ดูตารางประกอบ) จะมีดีข้อเดียวตรงที่เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์แล้ว ยังต่ำกว่า ให้ใจชื้นขึ้นบ้าง

ในทางทฤษฎี ปริมาณการซื้อขายที่ต่ำวานนี้แค่ 3.6 หมื่นล้านบาท  ทำให้การดันหรือการทุบราคาหุ้นทำได้ง่ายขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การทุบทำได้ง่ายกว่าการดันเสมอ เพราะแรงซื้อที่ไม่มากพอ ทำให้ราคาไม่สามารถฝ่าแนวต้านขึ้นไปสูงขึ้นต่อเนื่องได้

โดยพฤตินัยของการลงทุนในตลาดเก็งกำไร โดยเฉพาะตลาดหุ้น มีคำอธิบายง่ายเสมอมาว่า ช่วงที่มูลค่าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่ำ การพยายามทำอะไรที่เกินจริง เหนื่อยและเสียเวลาเปล่า เพราะการทำให้ดัชนีตลาดหุ้นฟื้นคืนจากขาลงแบบซึมยาวเป็นขาขึ้นแรง ด้วยปฏิบัติการ “ช้อนทองคำ” ไม่บังเกิดผล

กรณีตลาดหุ้นวานนี้ ที่ดัชนีเปิดบวกในช่วงเช้า แล้วปิดลบช่วงบ่าย อธิบายจิตวิทยาของตลาดได้ดี

ในยามที่ตลาดหุ้นมีทิศทางซึมตัวลงแบบไซด์เวย์ ดาวน์ (ตัวอย่างชัดเจนคือ หุ้นโรงพยาบาลเอกชนที่ส่วนใหญ่ ผลประกอบการดีเด่น ราคาร่วงลงเฉลี่ยมากถึง 15% โดยไม่มีเหตุผล) คำอธิบายใดๆ ก็ไม่สามารถชี้ให้เห็นได้ว่า ตลาดจะกลับมาคึกคัก และฟื้นตัวพลิกกลับจากการซึมลงแบบไซด์เวย์ เป็นขาขึ้นระลอกใหม่ ทำเอานักวิเคราะห์ทางเทคนิคและพื้นฐานเสียเครดิตมานักต่อนัก เพราะ “ช้อนทองคำ” ไม่ทำงานตามที่คาดเดา

อย่างที่ทราบกันดี ช้อนทองคำของตลาดหุ้น หมายถึงภาวะที่ราคาหุ้นสำคัญหรือดัชนีของตลาด พลิกกลับจากจังหวะขาลงมาเป็นขาขึ้น ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ ระยะสั้น กับระยะกลาง (หรือยาว)

ช้อนทองคำระยะสั้น เรียกกันว่า เทคนิคัล รีบาวด์ หมายถึงการเปลี่ยนทิศทางกะทันหันของราคาหรือดัชนีตลาดหุ้น เป็นขาขึ้นชั่วคราว (ในที่นี้ รวมหมายถึงการรีบาวด์ขาลงที่เรียกว่า แมวตายเด้ง (dead-cat bounce) ด้วย)

ส่วนช้อนทองคำระยะกลาง (หรือยาว) หมายถึงภาวะกระทิง ซึ่งเป็นช่วงเวลาของขาขึ้นที่ยาวนาน (ส่วนใหญ่จะมีอย่างน้อย 4 ระลอกเป็นขั้นบันได) แต่ภาวะช้อนทองคำหลังสุดนี้ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ นักลงทุนส่วนใหญ่ของตลาดมีอารมณ์ชัดเจนในเรื่องของความเชื่อมั่นต่อตลาดโดยรวม ความเชื่อมั่นต่ออนาคตของหุ้นรายตัวที่ถืออยู่ และความคาดหวังทางบวกต่อผลของการลงทุน

ปรากฏการณ์ ช้อนทองคำ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากอารมณ์ร่วมของนักลงทุนที่เรียกกันว่า ท่าทีกระทิง (bill position) หมายถึงความต้องการที่จะเข้าซื้อหลักทรัพย์หรือหุ้นในตลาดเพื่อถือเอาไว้ทำกำไรในอนาคต หรือที่รู้จักกันง่ายๆ ว่ายุทธศาสตร์ “ซื้อแล้วถือ” นั่นเอง

ประสบการณ์ระบุว่า การได้มาซึ่ง “ช้อนทองคำ” เรียกร้องหาประสบการณ์ของนักลงทุนค่อนข้างมาก ไม่ใช่ได้มาแบบฟรีๆ และส้มหล่น โดยไม่ผ่านกระบวนการของประสบการณ์ ที่ต้อง “จ่ายค่าโง่”

โจทย์สำคัญที่นักลงทุนต้องค้นหาให้ได้ เพื่อจะไม่ต้องพลาดอยู่ที่ว่า จะสามารถอ่านสัญญาณล่วงหน้าได้หรือไม่ว่า ช่วงจังหวะของ “ช้อนทองคำ” นั้น ควรจะเกิดขึ้นเมื่อใด ที่ไม่ใช่ซื้อเมื่อคิดว่าราคาต่ำแล้ว แต่ยังมีต่ำกว่าเกิดขึ้นได้อีก

นักลงทุนหลายคน ตั้งคำถามที่ไร้เดียงสาว่า ตลาดหุ้นไทยที่มีแรงสนับสนุนจาก 3 ปัจจัยหลักที่โดดเด่น คือ 1) มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศระดับหัวแถวของโลก 2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐหลายด้านพร้อมกัน แม้การลงทุนเอกชนยังไม่เต็มกำลังการผลิต 3) สภาพคล่องเฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนในตลาด ที่มีหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ดี/อี) ต่ำสุดในเอเชีย ทำไมจึงไม่สามารถดูดซับจิตวิทยาขาขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ทำนิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่า ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

คำตอบแบบนักวิเคราะห์ที่ดูง่ายสุด คือ การทำกำไรจากตลาดนั้น ต้องซื้อเมื่อถึงแนวรับ และขายเมื่อถึงแนวต้าน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ไม่มีใครรู้ว่าแนวต้านหรือแนวรับ (ซึ่งเกิดจากจินตนาการของกราฟที่อาศัยสถิติเก่าอ้างอิง) อยู่ที่ใดกันแน่

ยามนี้ การซื้อที่แนวรับ แต่ยังมีแนวรับใหม่โผล่มาเรื่อยๆ ที่ราคาต่ำลง จึงเป็นเรื่องที่ต้อง “ทำใจ” เป็นสำคัญ และคาถาประจำใจของการลงทุนที่ดีสุด คือ “รู้อะไร  ก็ไม่สู้ รู้งี้”…แล้วก็อาศัยลูกอึดปรับพอร์ตตัดขาดทุนกันไปเรื่อยๆ ถือเสียว่า “เงินไปเที่ยว เดี๋ยวก็กลับมา”

การติดหุ้น เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ และบทเรียนที่ทดสอบความอึดของนักลงทุนแต่ละคนได้ดีที่สุด ที่สำคัญอาจจะทำให้นักเก็งกำไร กลายเป็นนักลงทุนแบบวีไอ (จำเป็น) โดยปริยาย

Back to top button