พาราสาวะถี

สารพัดคำถามที่จะเกิดขึ้นเวลานี้เกี่ยวกับกรณี “ธัมมชโย” และ “ธรรมกาย” เชื่อได้เลยว่าจะกระชากอารมณ์เดือดพล่านของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น “มวยล้มต้มคนดู” ปฏิบัติการไล่ล่าและตรวจค้นครั้งนี้ล้มเหลว รวมไปถึง “มาตรา 44 ไร้มนตร์ขลัง” ซึ่งทางลงที่ถูกแถลงโดย พันเอกปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคสช.เห็นเด่นชัดว่าเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ


พาราสาวะถี : อรชุน

 

สารพัดคำถามที่จะเกิดขึ้นเวลานี้เกี่ยวกับกรณี ธัมมชโย” และ “ธรรมกาย” เชื่อได้เลยว่าจะกระชากอารมณ์เดือดพล่านของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น “มวยล้มต้มคนดู” ปฏิบัติการไล่ล่าและตรวจค้นครั้งนี้ล้มเหลว รวมไปถึง “มาตรา 44 ไร้มนตร์ขลัง” ซึ่งทางลงที่ถูกแถลงโดย พันเอกปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคสช.เห็นเด่นชัดว่าเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ

นั่นเป็นเพราะดีเอสไอคือผู้นำในปฏิบัติการ ตำรวจคือแนวร่วมในการตรวจค้น ขณะที่ทหารเป็นแค่กำลังหนุนที่อยู่ภายนอกแม้จะมีเจ้าหน้าที่ถึง 15 กองร้อยหรือ 1,350 นายก็ตาม เพราะผลของการสนับสนุนครั้งนี้ทีมโฆษกคสช.บอกว่า “ทหารไม่เห็นอะไร” นั่นหมายความว่า ทุกอย่างจึงเป็นสิ่งที่ดีเอสไอจะต้องชี้แจงแถลงไขให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งหมด

อีกประการคือ ผลจากการใช้มาตรา 44 เข้าไปปฏิบัติการนั้น ดีเอสไอจะต้องชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรหรือด้วยวาจากลับไปยัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช.ว่า การตรวจค้นตลอด 23 วันในทุกพื้นที่ ผลออกมาเป็นอย่างไร เมื่อไม่พบธัมมชโยผู้ต้องหาตามหมายจับแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แล้วพื้นที่ควบคุมอย่างวัดธรรมกายจะบริหารจัดการอย่างไร

เรียกได้ว่าแม้จะใส่เกียร์ (ค่อยๆ) ถอย แต่ก็ยังมีโจทย์ให้ดีเอสไอต้องสะสาง งานนี้จึงไม่ใช่แค่ภาระของ พันตำรวจไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเท่านั้น แต่มันหมายถึงการจะต้องชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีของ สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เจ้ากระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้กำกับดูแลด้วย เหตุใดปฏิบัติการครั้งนี้จึงเหลวเป๋วไม่เป็นท่า

เหมือนอย่างที่ย้ำมาก่อนหน้า มาตรา 44 อาวุธที่มีอานุภาพทะลุทะลวง จัดการได้ทุกเรื่องทุกปัญหาตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา แต่ในห้วงปลายของการใช้อำนาจอาจจะเกิดการท้าทายและในบางเรื่องมันจะใช้ไม่ได้ผล กรณีธัมมชโยและธรรมกายเป็นบทพิสูจน์ในเรื่องนี้ และเป็นสิ่งที่น่าจะช่วยกระตุกเตือนท่านผู้นำด้วยว่า บางอย่างนั้นไม่ใช่แค่การบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว

การมุ่งแต่จะใช้พระเดชเพียงอย่างเดียวไม่ใช่สูตรสำเร็จของการแก้ปัญหา ยิ่งในภาวะที่ยังถูกตั้งคำถามเรื่องมาตรฐานในการอำนวยความยุติธรรม ความพยายามที่จะจัดการด้วยกฎหมาย จึงถูกมองไปอีกด้านว่า เป็นการใช้อำนาจเพื่อจัดการกลุ่มหรือฝ่ายที่ถูกจัดให้เป็นผู้ต่อต้านหรือฝ่ายตรงข้ามผู้กุมอำนาจ ซึ่งนั่นเท่ากับว่า การประกาศสร้างหลักนิติธรรมของคณะผู้ยึดอำนาจเป็นแค่วาทกรรมสร้างความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหารเท่านั้น

การเตือนสติมาจาก สิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.อุทัยธานี จึงน่ารับฟังอยู่ไม่น้อย ท่าทีของดีเอสไอต่อธรรมกายถือเป็นท่าทีที่ดี เป็นการลดความร้อนแรงทางการเมือง ลบภาพ ลดความรู้สึกที่ไม่ดีของประชาชนในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างมาก เพราะต้องยอมรับว่า จะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นเรื่องวัดธรรมกายเป็นประเด็นทางศาสนาที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในความรู้สึกของคนไทย

ที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่ายมีการออกมาพูดตอบโต้กันไปมาจนได้ทำร้ายขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีที่ยึดถือกันมาอย่างไม่รู้ตัวในหลายๆ เรื่อง ดังนั้น เมื่อรัฐบาลหรือดีเอสไอมีท่าทีที่ผ่อนคลายลงแล้วก็ควรใช้โอกาสจากกรณีธรรมกายนำไปสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ที่ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ ส่วนใครถูกใครผิดก็ไปว่ากันตามกฎหมาย

แน่นอนว่าในมุมมองของสิงห์ทองคือต้องการให้ประเด็นธรรมกาย ขยายผลไปสู่เวทีการสร้างความปรองดองของนักการเมือง โดยนักการเมืองไม่ควรออกมาพูดจากล่าวหากันไปมาจนทำลายบรรยากาศแห่งการปรองดอง โดยเฉพาะวิวาทะว่า ใครรู้จักกับใครเพื่อมาทำลายหรือโจมตีกันในทางการเมือง เพราะมันไม่ใช่สาระ และยังเป็นการทำให้ภาพของนักการเมืองที่ดูแย่อยู่แล้ว ให้แย่ลงไปอีกในสายตาประชาชน

ในแง่ของนักการเมืองไม่ว่าจะหยิบจับตรงส่วนไหนมาตีแผ่หรือกระแนะกระแหน ล้วนแต่สร้างราคาให้กับคนพูดได้ทั้งนั้น แต่ดูเหมือนว่าเวทีรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความปรองดองที่ พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธานนั่งแลกเปลี่ยนกับพรรคการเมืองทั้งหลายไม่ว่าจะพรรคใหญ่ไปจนถึงพรรคเล็ก ไม่ได้มีอะไรให้หวือหวาแต่อย่างใด

สัปดาห์นี้คงต้องหันมามองการเข้าไปเสนอความเห็นของกลุ่มการเมือง ซึ่งวางคิวกันไว้เรียบร้อยแล้วว่า นปช.จะเข้าไปพบในวันที่ 15 มีนาคม แล้วปิดท้ายด้วยกปปส.ในวันที่ 17 มีนาคม เอาแค่คิวก็มีคำถามเล็กๆ เกิดขึ้นว่า ที่ผ่านมาคณะผู้จัดเคยบอกว่าเรียงตามลำดับอักษร แต่หนนี้ทำไมน.หนูถึงได้คิวก่อนก.ไก่ แต่นั่นเป็นเพียงประเด็นขี้ปะติ๋วที่ไม่ต้องใส่ใจ

น่าสนใจคงเป็นข้อเสนอและความเห็นของทั้งสองกลุ่มมากกว่า ฝ่ายเสื้อแดงนั้นที่ผ่านมาจัดเวทีทัศน์ว่าด้วยปรองดองนำร่องไปก่อนหน้า จนถูกจับตาว่าจะเข้าอีหรอบศูนย์ปราบโกงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.จึงสั่งเปลี่ยนรูปแบบ เป็นการจิบน้ำชากาแฟ คุยกันเรื่อยเปื่อยแทน ทว่าข้อเสนอที่เตรียมไปชงต่อคณะอนุกรรมการปรองดองนั้นน่าจะไม่ธรรมดา

ประเภทหนักหน่วง ตอกกันหน้าหงายน่าจะมี ที่ต้องจับตามองคือหลังวงหารือแล้ว แกนนำนปช.กับโฆษกกระทรวงกลาโหมจะแถลงในเรื่องเดียวกันหรือไม่ แต่เดินทางกันมาถึงตรงนี้แล้วเชื่อว่า หน้าฉากก็ไม่น่าจะมีอะไรให้ตื่นเต้น เพียงแต่ว่าข้อเสนอที่เกิดขึ้นนั้น ฟันธงได้เลยว่าคงไม่ใช่ประเภทสอพลอ เอาใจผู้มีอำนาจแน่นอน

เนื่องจากหน้าที่ดังว่าจะเป็นของ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส.ซึ่งเฟซบุ๊คไลฟ์ยืนยันแล้วว่าจะยกโขยงแกนนำไปหารือ เพื่อรำลึกบรรยากาศและข้อเรียกร้องของมวลมหาประชาชน การชื่นชมบิ๊กตู่ และยกย่องมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ว่าเริ่มปฏิรูปในบางเรื่องและยกร่างรัฐธรรมนูญได้สุดยอด แค่เท่านี้ก็เห็นภาพแล้วว่าผลจะออกมาอย่างไร สิ่งที่คนอยากเห็นมีแค่ว่าบรรยากาศหลังหารือในวันนั้นมันจะหวานจนเลี่ยนหรือเปล่าเท่านั้นเอง

Back to top button